แกงโฮะวัด
แกงโฮะวัด เป็นอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือของประเทศไทย แกงโฮะวัดมีที่มาจากประเพณีการถวายอาหารในวันพระใหญ่ของชาวล้านนา ชาวบ้านจะนำอาหารมาทำบุญที่วัด อาหารส่วนใหญ่ที่นำมาถวายเป็นอาหารชั้นดี เช่น แกงอ่อม แกงฮังเล แกงกะทิ แกงงุ้น (วุ้นเส้น) และห่อหนึ้ง (ห่อหมก)
พระเณรในวัดไม่สามารถฉันอาหารทั้งหมดภายในวันเดียว จึงมีการนำมารวมกันเรียกว่า “โฮะ” จากนั้นนำไปตั้งไฟเคี่ยวให้งวด อาหารที่นำมาโฮะบางอย่างอาจเริ่มบูดหรือบูดแล้วส่งกลิ่นเหม็นบูดเหม็นเปรี้ยวบ้าง จึงมีการหั่นผักชี ตะไคร้ ใบมะกรูด ยอดโกสน ยอดเล็บครุฑ ยอดพริก ผักตำลึง ใส่เพื่อกลบกลิ่น แกงโฮะวัดร้อนๆ จะถูกยกมาตั้งกลางวงฉันพร้อมผักเครื่องเคียง เช่น ผักชีฝรั่ง ยอดเล็บครุฑ ใบอ่อนขนุน ตะไคร้หั่น พริกขี้หนู เป็นกับข้าวกินกับข้าวเหนียวหลังวันพระใหญ่
กลิ่นเปรี้ยวเคี่ยวไฟตัดด้วยกลิ่นตะไคร้ใบมะกรูดของแกงโฮะเป็นเสน่ห์เย้ายวนใจยิ่ง บางวัดจึงมีการแจกแกงโฮะให้ชาวบ้าน แกงโฮะวัดจึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและยังเป็นอาหารอร่อยที่ได้รับความนิยมจากชาวล้านนาและนักท่องเที่ยว