“แมลงก้นกระดก” ตัวจิ๋วพิษร้ายหน้าฝนไม่ระวัง เสี่ยงผิวไหม้-ร้ายแรง
เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน สิ่งที่ตามมาอาจไม่ได้มีเพียงการระบาดของเชื้อโรคต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีแมลงบางชนิดที่ชื่นชอบและเพาะพันธุ์ในช่วงฤดูฝน อย่าง “แมลงก้นกระดก” ซึ่งผู้ที่ไม่รู้ถึงความร้ายแรงในพิษของแมลงก้นกระดกที่อาจเกิดแผลพุพอง หากถูกพิษเข้าบริเวณดวงตาอาจทำให้ตาบอดได้ มักกำจัดแมลงด้วยวิธีการปัดหรือบี้เหมือนแมลงทั่วไป แล้วมาพบกับอาการในภายหลัง
อาการจากพิษของแมลงก้นกระดก
แมลงก้นกระดกสามารถปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่า “พิเดอริน” ที่มีลักษณะเป็นกรดออกมา โดยหลังจากการสัมผัสถูกตัวแมลงก้นกระดกแล้ว อาการจะยังไม่ปรากฏขึ้นมาให้เห็น แต่ผ่านไปประมาณ 6-12 ชั่วโมง จะเริ่มแสดงอาการแสบร้อนหรือคันเล็กน้อย และบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับแมลงจะเกิดผื่นแดงคันเป็นขอบเขตชัดเจน หรืออาจพบตุ่มน้ำใส หรือเป็นรอยไหม้ เป็นแผลพุพอง ในกรณีผู้ที่แพ้สารพิษนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และหากถูกพิษเข้าบริเวณดวงตาอาจทำให้ตาบอดได้
ทั้งนี้หากเกิดเป็นรอยแดงเล็กๆ รอยจะสามารถหายไปได้เองเมื่อผ่านไป 2-3 วัน แต่หากเป็นแผลที่ค่อนข้างรุนแรง ผื่นแดงหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายเองได้ใน 7-10 วัน แต่มักจะทิ้งรอยดำไว้ เมื่อผ่านไปซักระยะรอยดำจะค่อยๆ จางหายไป กรณีหากแผลมีการติดเชื้อซ้ำในจุดเดิม อาจทำให้ผื่นหรือแผลหายช้าลง หรืออาจลุกลามจนเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากหายแล้วได้
หากสัมผัสถูกแมลงก้นกระดกทำอย่างไร ?
- รีบล้างด้วยน้ำสะอาด หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย
- ประคบเย็นบริเวณที่สัมผัสโดน ไม่ควรสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่ถูกพิษ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือลุกลามเพิ่มได้
- หากอาการผื่นหรือแผลพุพองเริ่มมีการอักเสบหรือขยายวงกว้างมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
- การรักษาผื่นที่เกิดขึ้น คือการใช้ครีมสเตียรอยด์ทาบริเวณที่เกิดผื่น หากเป็นแผลพุพองจะรักษาโดยการประคบด้วยน้ำเกลือ และสามารถทานยาเพื่อบรรเทาตามอาการที่เกิดขึ้นได้