1 เมษายน วันข้าราชการพลเรือน มรดกแห่งสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ปฏิรูปสยาม
ข้าราชการพลเรือนของประเทศไทยมีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยในสมัยนั้น มีเจ้าพระยาจักรีเป็นสมุหนายกคุมพลเรือน และเจ้าพระยามหาเสนาเป็นสมุหพระกลาโหม คุมทหาร เพื่อคานอำนาจกันเอง แต่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นเกิดศึกสงครามบ่อยครั้ง ภายหลัง จึงคิดว่าถ้ายังแบ่งการปกครองเป็นแบบเดิมการคานอำนาจกันจะไม่สมดุล จะไปหนักที่ เจ้าพระยามหาเสนา ผู้มีอำนาจคุมทหารได้ จึงให้แต่ละสมุหทั้งสมุหนายกและสมุหกลาโหมมีหน้าที่คุมทั้งพลเรือน และทหารแล้วแบ่งพื้นที่กันรับผิดชอบเพื่อให้ง่ายแก่การดูแลรับผิดชอบ
จนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปรารภว่า การจัดระบบระเบียบแบบกรุงศรีอยุธยาไม่เหมาะสม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงระบบข้าราชการพลเรือนใหม่เรียกว่า “Government Reform” หรือเรียกว่า “การปฏิรูประบบราชการ”
ซึ่งการจัดระบบข้าราชการพลเรือนแบบกอเวอนเมนต์ รีฟอร์มนั้น ได้มีการยกเลิกสมุหทั้งสอง เลิกระบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา และเปลี่ยนมาตั้งเป็นกระทรวงแทน โดยมีการตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่ 12 กระทรวง มีเสนาบดีปกครองดูแล เริ่มใช้ระบบนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ต่อมาทรงตั้งโรงเรียนผลิตคนป้อนเข้าสู่ระบบราชการ เริ่มแรกใช้ชื่อว่า โรงเรียนมหาดเล็ก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือน หรือปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2571 เป็นวันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพุทธศักราช 2571 มีผลใช้บังคับเป็นการจัดระเบียบข้าราชการฝ่ายพลเรือนให้เป็นมาตรฐาน จึงกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน ของทุกปีเป็นวันข้าราชการพลเรือน ซึ่งการจัดงานในวันข้าราชการพลเรือนมีขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2522 หัวใจของงานส่วนใหญ่ เป็นการมอบเกียรติบัตรยกย่องสดุดีข้าราชการดีเด่นในส่วนกลาง นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและในส่วนภูมิภาคมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดงานวันข้าราชการพลเรือนขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2523 เป็นต้นมา ในการจัดงานมีการแสดงนิทรรศการผลงานของส่วนราชการต่าง ๆ และมีการยกย่องเชิดชูข้าราชการพลเรือนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น โดยในปี พ.ศ. 2524 มีโครงการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น โดยคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่นตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา และได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ข้าราชการดีเด่นในงานวันข้าราชการพลเรือนของทุก ๆ ปีจนถึงปัจจุบัน
ที่มา:สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์