วันอาทิตย์, 23 มีนาคม 2568

เปิดชีวิตชาวอาข่า “มิวสิค อาบูซูลู” ผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตบนดอยได้อย่างธรรมชาติ

10 ต.ค. 2021
1531

เปิดชีวิตชาวอาข่า “มิวสิค อาบูซูลู” ผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตบนดอยได้อย่างธรรมชาติ ปลูกผัก-ทำไร่ชา รวมถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าอาขาที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ถึงแม้เต็มไปด้วยความลำบาก สัญญาณไม่มี-คมนาคมไม่ได้ แต่เธอไม่เคยยอมแพ้ ขับรถเดินทาง 20 กิโลเมตร เพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์ให้การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้น

อาจจะพบได้ไม่บ่อยนักที่ใครสักคนจะยอมทิ้งความสุขสบายในเมือง กลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ตรงข้ามกับมิวสิคที่ตัดสินใจหันกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ณ หมู่บ้านขุนสรวย ตำบลวาวี จ.เชียงราย ทันทีที่เรียนจบจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“ตอนนี้หนูกลับมาอยู่บนดอย มาใช้ชีวิตอยู่บนดอย หนูก็อยากมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ อยากจะพัฒนาเกษตรที่คุณพ่อคุณทำไว้

และก็อยากที่จะพัฒนาชุมชนของหนู เพราะว่าตั้งแต่เด็กมาถนนยังเหมือนเดิม จนหนูอายุเท่านี้ก็ยังเหมือนเดิมเลยค่ะ ก็อยากพัฒนาให้เดินทางสะดวกมากขึ้น

คือ เข้าไม่ถึง หนูก็ไม่รู้ว่ามันยังไง คือ จริงๆ แล้วในส่วนของคนในชุมชน ที่พัฒนาได้ก็พัฒนาแล้วนะคะ แต่ว่าบางอย่างก็ต้องพึ่งหน่วยงานเหมือนกัน

มิวสิคเปิดเผยเบื้องหลัง ผ่านปลายสายท่ามกลางเสียงฝนที่ยังคงโปรยปรายเป็นระยะ แก่ผู้สัมภาษณ์ ถึงเรื่องราววิถีชีวิตว่า กว่าจะเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ต้องผจญกับถนนหนทางสุดลำบาก อีกทั้งสัญญาณโทรศัพท์ในหมู่บ้านที่ตัดจากโลกภายนอก

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนของคนดอยที่มีโอกาสได้เข้าไปทำความรู้จักวิถีชีวิตมากขึ้นทว่าในอีกด้านหนึ่ง ณ หมู่บ้านขุนสรวย แห่งนี้ มิวสิคมองว่ามีธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยังคงวัฒนธรรมที่สวยงาม

“การแต่งตัวก็รู้แล้วค่ะ ว่าเป็นชนเผ่าอะไร เพราะแต่ละชนเผ่ามันมีสัญลักษณ์แต่ละชนเผ่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมวก เสื้อ กระโปรง กางเกง หรือว่าลายปักผ้า คือ มันบ่งบอกเลยว่าเป็นชนเผ่าอะไร เราเห็นเรารู้เลย

จริงๆ ณ ตอนนี้ ชุดชนเผ่า บางคนส่วนใหญ่จะใส่ในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานโล้ชิงช้า ทำไข่แดง หรือว่าวันประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าอาข่า ส่วนใหญ่เขาจะใส่ในช่วงนั้น

แต่ ณ ตอนนี้ อย่างกลุ่มวัยรุ่นเริ่มมีการศึกษามากขึ้น ได้เอาลวดลาย เอาลายปักผ้าของชนเผ่าตัวเองไปแมทกับเสื้อแฟชั่นต่างๆ ตอนนี้ก็สามารถใส่เป็นแฟชั่นแล้วค่ะ

หมู่บ้านจะอยู่เป็นป๊อก เป็นหมวด คือ ไม่ได้อยู่รวมกันทั้งหมู่บ้าน ตอนนี้โดยประมาณ 200-300 กว่าหลังคาเรือนถ้าไม่มีการมานั่งคุยกัน มานั่งผิงไฟด้วยกัน มานั่งดื่มชากัน ก็จะเข้านอนตั้งแต่ 2 ทุ่ม ตื่นตี 5.30-6 โมงเช้า แล้วเริ่มออกไปทำงาน ทานข้าว แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูก็จะไม่เหมือนกัน อย่างเช่นฤดูหนาวญาติๆ ก็จะมานั่งคุยกัน นั่งผิงไฟ นั่งจิบชามาคุยกัน

ค่อนข้างที่จะสงบนะคะ เพราะว่าส่วนใหญ่บ้านข้างๆ ก็ไม่ใช่คนอื่น ส่วนใหญ่จะอยู่เป็นเครือญาติกันหมด นี่ก็ฝั่งพ่อ นี่ก็ฝั่งแม่

ส่วนการเดินทางยากอยู่ค่ะ คือ บ้านหนูจะห่างจากตัวอำเภอไกล คือ ตรงที่ไม่ได้ลาดยาง ที่เป็นลูกรังอยู่ คือ 10 กิโล เราต้องออกจากบ้านมา 10 กิโล กว่าจะเจอถนนลาดยางแล้ว

จากถนนลาดยางปากทางเข้าหมู่บ้าน ไปอำเภอก็ 50-60 กิโล หนูว่าการเดินทางสำหรับบ้านหนู ณ ตอนนี้ คือยังลำบากอยู่ ยิ่งช่วงหน้าฝนยิ่งลำบากค่ะ

ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณที่บ้าน เวลาหนูจะติดต่อกับใครหนูต้องขับรถลงดอยมาอีก 20 กิโล ถึงจะมีสัญญาณคุยแบบนี้ได้”

ที่มา https://mgronline.com