กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน 12-13 มี.ค. 66 ไทยตอนบนเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน
วันที่ 6 มี.ค. 66 มีรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 6-15 มี.ค.66 อัปเดต 2023030512 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) :
6-11 มี.ค. 66 เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ประเทศไทยตอนบน ยังไม่มีฝน อากาศเริ่มร้อนขึ้นในตอนกลางวัน เช้าๆ ยังมีอากาศเย็นบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ยอดดอย ยอดภู ยังมีอากาศหนาว ท้องฟ้าโปร่ง เมฆน้อย
ลมหนาวที่เคยพัดปกคลุมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นลมทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้, มากขึ้น มีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ต้องระมัดระวังรักษาสุขภาพจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ช่วงนี้อากาศร้อนและแห้ง ระวังอัคคีภัยที่เกิดขึ้นได้ง่าย การสะสมของฝุ่นก็เพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะในภาคเหนือ
ส่วนภาคใต้ระยะนี้ยังมีฝนบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากอิทธิพลของลมตะวันออกที่พัดปกคลุม คลื่นลมจะเริ่มมีกำลังอ่อนลง พี่น้องชาวเรือ ชาวประมง เดินเรือด้วยความระมัดระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
ช่วงวันที่ 12-13 มี.ค.66 โดยประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน (ฝนมาค่ำๆ ของวันที่ 12) จากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นที่จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคอีสาน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน จะเกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและมวลอากาศร้อน ทำให้มีพายุฤดูร้อน(พายุฝนฟ้าคะนอง) ลมกระโชกแรง มีฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกได้ ต้องติดตามและเฝ้าระวัง เตรียมการรับมือ