29 เมษายน 2566 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้จัดกิจกรรมฉายสารคดี แม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง ณ ห้องประชุมสายน้ำกก ศูนย์ CCF เชียงรายมูลนิธิ ซี ซี เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชนฯ บ้านฟาร์มสัมพันธกิจ ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีผู้สนใจเข้าร่วม มาจากเยาวชน ตัวแทนชุมชน 70 คน เข้าร่วมรับชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
สารคดีแม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง ได้นำเสนอเรื่องราวผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง ทั้งการสร้างเขื่อน การระเบิดแก่ง จนส่งผลต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากกระบวนการทำงานวิจัยชาวบ้านลุ่มน้ำโขง จังหวัดเชียงราย ที่ 10ชุมชนตัวแทน ได้ลุกขึ้นมาทำงานวิจัยในรูปแบบของงานวิจัยชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมาเป็นนักวิจัย ศึกษาผลกระทบในหัวข้อ ประวัติศาสตร์นิเวศน์วัฒนธรรม เกษตรริมโขง ปลา ไก นกน้ำ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีพี่เลี้ยงจากกลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง และสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ช่วยนักวิจัย คอยอำนวยความสะดวก จนเกิดเป็นสารคดีสรุปผลการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงชิ้นนี้ขึ้นมา
การเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ได้ส่งผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง การฉายสารคดี แม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะนำเสนอเรื่องราวปัญหาผลกระทบในแม่น้ำโขงที่มีต่อชุมชนชาวบ้านในจังหวัดเชียงราย โดยการนำข้อมูลจากการทำงานวิจัยชาวบ้าน ซึ่งเนื้อหาสารคดี ชี้ให้เห็นผลกระทบการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของปลา ที่เป็นอาชีพรายได้ การเกษตรริมโขง การเก็บไก และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม หลังมีการสร้างเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงในปีพ.ศ. 2539 จนมาถึงโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจากจีนตอนใต้จนถึงชายแดนสามเหลี่ยมทองคำ ในช่วงปีพ.ศ.2545 รวมถึงการสร้างเขื่อนตอนล่างที่กำลังเกิดขึ้น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชาวบ้านริมโขง
สารคดีเป็นการนำองค์ความรู้ชาวบ้าน ได้เอาข้อมูลของตนเองที่ประสบผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง 25 ปี ออกมาเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน
นายบุญธรรม ตานะอาจ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย
“การนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ พวกเราได้รวบรวมข้อมูลกับทีมวิจัย เพื่อให้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตชาวบ้านของเรา ที่อาศัยแม่น้ำโขง ทั้งหาปลา ปลูกผักริมแม่น้ำ ซึ่งหลังจากมีการสร้างเขื่อน พวกเราได้รับผลกระทบทั้งจากการหาปลาที่ยากขึ้น ปลาหายไป พื้นที่เพาะปลูกก็ลดลง ทำให้คนในพื้นที่หากินลำบาก หวังว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของชาวบ้าน”
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า
“การฉายสารคดีครั้งนี้ เป็นการนำเสนองานของชาวบ้าน ที่ได้รับกระทบโดยตรง ต้องการส่งต่อให้ผู้ที่มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขง คือกรณีศึกษาต้องมีการทบทวนเรื่องการพัฒนา และการอนุรักษ์ทรัพยากรให้สมดุลได้อย่างไร เพื่อที่จะรักษาแม่น้ำให้เหลือความเป็นธรรมชาติให้ชุมชนได้พึ่งพาได้อยู่ ฟังเสียงของคนที่อยู่ริมน้ำบ้าง ผ่านงานวิจัยชาวบ้านและการฉายสารคดี แม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงในครั้งนี้”
สารคดี สายน้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง
สามารถติดตามชมสารคดีชิ้นนี้ได้ทางเพจสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้