ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างโอกาสและนวัตกรรมใหม่ๆ
ล่าสุด ครม. มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้นวัตกรรมดิจิทัลในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
กรอบหลักการ “เงินดิจิทัล 10,000 บาท”
1. วัตถุประสงค์: กระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาภาระค่าครองชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและเกษตรกร
2. กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนที่มีสัญชาติไทย อายุเกิน 16 ปี มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท
3. เงื่อนไขการใช้จ่าย: ใช้จ่ายในระดับอำเภอ ผ่านช่องทางการชำระเงินแบบพบหน้า (Face to Face) กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อ โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้าและค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่
4. ประเภทสินค้า: ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ยกเว้น สลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม และสินค้าบางประเภทที่อาจเพิ่มเติมในภายหลัง
5. แหล่งเงินงบประมาณ: 500,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายปี 2568 และการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2567
6. ระยะเวลา: ไม่เกินเดือนกันยายน 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งเงินงบประมาณ
7. การป้องกันการทุจริต: มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีที่อาจผิดหลักเกณฑ์ รวมถึงการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละส่วน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดำเนินโครงการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับกฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน
ผลักดันเร่งด่วน เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4
กระทรวงการคลัง โดยฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ จะนำเสนอมติ ครม. อย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อเร่งผลักดันการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะเร่งกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบงานต่างๆ ให้พร้อมใช้งานในไตรมาส 3 และเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ของปี 2567 ตามเป้าหมาย
โหลดติดมือถือไว้เลย ‘แอปพลิเคชัน ทางรัฐ’