บ้านหาดไคร้ เป็นหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงของ ม.7 ที่มีชื่อเสียงทางด้านการจับปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการจับปลาบึกทุกปี ช่วงระหว่างเดือนเมษายน พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาบึกจะว่างขึ้นเหนือ เพื่อไปวางไข่ ก่อนการจับปลาบึก จะมีพิธีการสำคัญอีกอย่างหนึ่งต้องทำทุกปีก่อนการจับ นั่นคือพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก ทำพิธีในวันที่ 18 เมษายนของทุกปี ในพิธีการก็จะมีการเซ่นไหว้อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นก็จะเริ่มลงมือจับปลา โดยเครื่องมือจับปลาบึกของที่นี่ เรียกว่า มอง ซึ่งเป็นอวนขนาดใหญ่พิเศษ เฉพาะจับปลาบึกเท่านั้น
แหล่งแพร่พันธุ์ปลาบึกแห่งแรกของโลก อ.เชียงของ จ.เชียงราย The first place in the world reproduction of Giant Catfish.”
หากไม่มีป้ายประกาศพร้อมรูปปั้น “ปลาบึก” ที่ลานหน้าวัดหาดไคร้ ก็แทบไม่มีสิ่งใดบ่งบอก ว่าหมู่บ้านอันเงียบสงบริมฝั่งโขง เขต อ.เชียงของ แห่งนี้ คือถิ่นฐานของพรานปลาบึกผู้เก่งฉกาจขนาดดูฟองคลื่นที่ผิวน้ำ ก็รู้ว่าเป็นปลาอะไร กระทั่งรู้ว่าเพศใด และเคยทำสถิติจับปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักเฉลี่ยเกิน 200 กิโลกรัมอย่างปลาบึก ได้มากถึง 69 ตัว เมื่อปี 2533 ทั้งยังส่งมอบปลาบึกเพศผู้ตัวแรกที่จับได้ในแต่ละปี ให้กรมประมงรีดน้ำเชื้อเก็บไว้เพาะขยายพันธุ์ต่อไปได้อีกนับล้านๆ ตัว
ปลายเดือนเมษายน 2550 เข้าสู่ฤดูวางไข่ของปลาบึก ช่วงเวลาที่พรานปลาควรจะไปรวมตัวกันคึกคักที่ “ดอนแวง” เกาะกลางลำน้ำโขงระหว่างบ้านหาดไคร้ กับบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ฝั่งลาว แต่วันนี้กลับมีเพียงเรือหาปลาขนาดเล็กไม่กี่ลำ อวนจับปลาบึกความยาวกว่า 200 เมตร ที่ชาวบ้านเรียก “มอง” บางผืนถูกแขวนสงบนิ่งอยู่ใต้ถุนบ้าน ส่วน “มอง” อีกกว่า 60 ผืน กองรวมเป็นพะเนินอยู่ในห้องกระจกไม่ไกลจากป้ายประกาศแห่งความภาคภูมิใจ
ในห้องนั้นยังมีซากปลาบึกสตัฟฟ์ตั้งโชว์ไว้ตัวหนึ่ง เสมือนเป็นตัวแทนปลาบึกตัวสุดท้ายที่จะถูกล่าโดยพรานปลาแห่งหาดไคร้ เพราะ “มอง” ทั้งหมดในห้องนี้ คือเครื่องมือทำกินที่บรรดาสมาชิกชมรมปลาบึกเชียงของ ขายให้แก่เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง ในราคาปากละ 2 หมื่นบาท เป็นสัญลักษณ์การยุติจับปลาบึกที่บ้านหาดไคร้ ซึ่งขึ้นชื่อมาแต่ไหนแต่ไร ว่ามีภูมิปัญญาในการจับปลายักษ์ได้เก่งกาจกว่าใครในลุ่มน้ำนี้
อันเนื่องมาจากสารพันปัญหาที่รุมเร้าลำน้ำโขง ตั้งแต่การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน การระเบิดแก่งหินกลางลำน้ำโขงตอนบน เพื่อการเดินเรือเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการสร้างค่านิยมผิดๆ ว่ากินเนื้อปลาบึกแล้วอายุจะยืน สติปัญญาจะเฉียบแหลม เพราะเป็นปลาเทพเจ้า เหล่านี้ล้วนส่งผลคุกคามปลาบึก ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ โดยเฉพาะการระเบิดแก่งหิน คือการทำลายแหล่งวางไข่ของปลาบึกอย่างโหดร้ายที่สุด
ทำให้สถิติการจับปลาบึกลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ จาก 69 ตัวในปี 2533 เหลือเพียง 4 ตัวในปี 2540 จนสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ขึ้นทะเบียนปลาบึกในบัญชีแดง หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในปี 2539 จากนั้นไม่กี่ปีต่อมา สถานะปลาบึกยิ่งเลวร้ายลงเมื่อถูกเลื่อนขั้นให้ยิ่งแดงเข้มเป็น “Critically Endangered” หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด!” (ข้อมูล: SEARIN: เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2547)
การดำรงอยู่หรือการสูญสลายไปของปลาบึก ถือเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพลำน้ำโขงที่หล่อเลี้ยงผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ได้เป็นอย่างดี การยุติจับปลาบึกของพรานปลาแห่งบ้านหาดไคร้ จึงนับเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวมและเพื่อโลกอย่างน่ายกย่อง หากยังมีการจับอยู่บ้างก็เพื่อการศึกษาวิจัย เช่น ตัวล่าสุดที่จับได้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ประมงจังหวัดเชียงราย และกองถ่ายสารคดีจากสหรัฐอเมริกา ขอซื้อไว้แล้วติดไมโครชิพเพื่อศึกษาพฤติกรรมปลา ก่อนปล่อยกลับลำโขงไป
หาดไคร้จึงถือเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนที่อิงแอบธรรมชาติอย่างเคารพยำเกรง เพราะนับแต่อดีต เมื่อฤดูกาลจับปลาบึกมาถึง ก่อนพรานปลาจะออกล่าเหยื่อ ชาวหาดไคร้จะพร้อมใจกันทำพิธีเซ่นสรวงเจ้าพ่อปลาบึกอย่างเอิกเกริก ด้วยความเชื่อว่าปลาบึกเป็นสัตว์ใหญ่ที่ไม่ทำร้ายสัตว์อื่น เพราะกินพืชคือ “ไก” หรือสาหร่ายแม่น้ำโขงเป็นอาหาร จึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองปลาบึก ก่อนจับต้องขออนุญาต และขอสมาลาโทษที่จำต้องจับเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้อง
เครื่องมือจับปลาบึกสมัยก่อนคือ “กวัก” มีรูปร่างคล้ายถุงขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์ กลางราว 3 เมตร ยาว 5 เมตร ต้องอาศัยความสามารถที่น่าทึ่งบวกกับความอดทนเป็นยอด ในการเฝ้าสังเกตฟองคลื่นที่ผิวน้ำเป็นคืนเป็นวัน จึงจะจับปลาบึกได้ จนถึงกับมีการตั้งสมญานามให้พรานปลานัยน์คมว่า “เสือตาไฟ” ก่อนที่จะพัฒนาเครื่องมือจับปลาบึกมาเป็น “มอง” ขนาดยาวกว่า 200 เมตร ขึงขวางลำน้ำโขงช่วงที่แคบอย่างบริเวณเชียงของกับห้วยทราย
ปัจจุบัน พรานปลาแห่งหาดไคร้ยังจัดพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก ทุกวันที่ 18 เมษายนของทุกปี เพราะถึงแม้จะยุติการล่าปลาบึกแล้ว แต่เชื่อว่าพิธีนี้จะบันดาลความร่มเย็นเป็นสุขให้ แต่เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่วันนี้ หากใครไปเยือนหาดไคร้ไม่ตรงวันที่ 18 เมษายน ก็แทบไม่รู้เรื่องปลาบึก เพราะไม่มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงและรวบรวมองค์ความรู้ล้ำเลอค่าไว้ ในขณะที่พรานปลาระดับ “เสือตาไฟ” ค่อยๆ ร่วงโรยและอำลาโลกไปอย่างเงียบเชียบ
ยิ่งเห็นอาคารสวยหรูริมฝั่งโขง มีป้ายระบุว่า “พิพิธภัณฑ์ปลาบึก” ก็ยิ่งน่าเสียดาย เพราะภายในมีแต่ความว่างเปล่า ทั้งๆ ที่ทุ่มเทงบไปเกือบสิบล้าน เพราะแนวคิดจัดทำเป็น “อควาเรียม” นั้น ยุ่งยากทั้งการจัดการและการดูแลรักษา จึงใคร่ขอเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง ไปจนถึง ททท. ประสานมือกันจัดทำพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ภูมิปัญญาพื้นถิ่นว่าด้วยเรื่องปลาบึก ชนิดที่ใครไปเมื่อไร ก็สามารถไปยืนดูภาพ ดูอุปกรณ์จับปลา หรือกดปุ่มดูหนังสารคดีการจับปลาบึกได้เลย
รวมถึงอาจจัดกิจกรรมสาธิตจับปลาบึก ล่องเรือชมความงามของลำน้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลาบึก ก็จะเป็นการสร้างอาชีพทดแทนให้เหล่าพรานปลาได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญ…
คือยังรักษาภูมิปัญญาการจับปลาบึกไว้ได้ เพราะถึงแม้จะเลิกจับปลาบึกกันแล้ว แต่ “ภูมิปัญญา” ไม่มีวันตาย และควรค่าจะดำรงอยู่คู่หาดไคร้ไปเป็นนิรันดร!
ที่มาจากคมชัดลึก
สถานที่ตั้ง :: เทศบาลตำบลเวียงเชียงของตำบลเวียงเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 57140
โทรศัพท์:: 053-791171-2
เว็บไซต์ :: http://www.nmt.or.th/chiangrai/viangchiangkhong/default.aspx
ที่มา https://www.cots.go.th/travelview/detail.php?id=201