วันศุกร์, 25 เมษายน 2568

ของอร่อยภาคเหนือ รู้จักหนอนรถด่วน โตไปเป็นอะไร หาคำตอบมาให้แล้ว

หนอนรถด่วน หรือ Bamboo Caterpillar เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง และชาวจีนฮ่อเรียกว่า จูซุง คนพม่าเรียกว่า ลาโป้ว และคนกะเหรี่ยงเรียกว่า คลีเคล๊ะ ในไทย มันถูกเรียกว่า “หนอนรถด่วน” เนื่องจากรูปร่างของมันคล้ายกับโบกี้รถไฟ

วงจรชีวิตของหนอนรถด่วนนี้ยาวนานและครบรอบทั้งปี เมื่อหนอนโตขึ้นจะกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน และเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ผีเสื้อจะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน หลังจากนั้น เพศเมียจะวางไข่บนหน่อไม้ ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่จะเจาะเข้าไปในหน่อไม้เพื่อกินเยื่อไผ่ ตลอดช่วงเวลานี้หนอนจะลอกคราบถึง 5 ครั้ง และใช้เวลาประมาณ 10 เดือน เมื่อผ่านไปมันจะเข้าสู่ระยะดักแด้และทำการเปลี่ยนร่างเป็นผีเสื้อในเวลาประมาณ 40-60 วัน ผีเสื้อตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 1-2 สัปดาห์

หนอนรถด่วนเจริญเติบโตบนไผ่ชนิดต่างๆ เช่น ไผ่ซาง, ไผ่หก, ไผ่บง, ไผ่ไร่รอ, และไผ่สีสุก สามารถพบได้ในความสูง 430-1300 เมตร จากระดับน้ำทะเล.

คนไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือ มีประเพณีในการบริโภคหนอนรถด่วนโดยการทำเป็นอาหารต่างๆ เช่น ต้ม ทอด หรือผสมกับน้ำพริกตำ จากการศึกษาพบว่าหนอนรถด่วนมีสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน และกรดอะมิโนที่จำเป็นและไม่จำเป็นต่อร่างกาย ประเภทกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ตามน้ำหนัก ได้แก่ ทรีโอนีน 1.15% ซีสตีน 0.28% วาลีน 1.60% เมธิโอนีน 0.66%ไอโซลิวซีน 0.94% ลิวซีน 2.05% เฟนิวอะลานีน 0.63% และไลซีน 1.66% ประเภทกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ ทรีโอนีน 1.15% เซรีน 1.84% กลูตามิก 2.96% โปรลีน 1.46% ไกลซีน 1.01% อะลานีน 1.24% และอาร์จีนีน 1.22%

การสังเกตต้นไผ่ ที่มีหนอนรถด่วนตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยดูว่า ต้นไผ่ต้นใดมีขนาดปล้องค่อนข้างสั้น และหากสังเกต จะพบรูเล็กๆ ที่โคนของไผ่ประมาณปล้องที่ หนึ่งหรือ ปล้องที่สอง ซึ่งเป็นรูที่ตัวเต็มวัยจะออกมาเมื่อกลายเป็นผีเสื้อ จึงมั่นใจได้ว่าไผ่ลำนี้มีหนอนรถด่วนอยู่แน่นอน หนอนรถด่วนยังเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวชนบท ทั้งนี้เพราะตัวหนอนสดมีราคาขายส่งกิโลกรัมละ 100 – 250 บาท ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากถึง 500 – 1000 บาทต่อวัน สำหรับพ่อค้าแมลงทอด จะขายหนอนรถด่วนราคา กก. ละ1200 – 1500 บาททีเดียว