วันอังคาร, 14 มกราคม 2568

กิ้งกือ สัตว์จิ๋วแต่อันตราย หนึ่งในแหล่งสะสม ไซยาไนด์

กิ้งกือ สัตว์จิ๋วแต่อันตราย หนึ่งในแหล่งสะสม ไซยาไนด์

(สสวท.) เผยข้อมูลที่คนไทยหลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้ถึง “สารไซยาไนด์ที่อยู่ในกิ้งกือ!” โดยความอันตรายของกิ้งกือ สีสันสดใสที่ถูกค้นพบใหม่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยรูปแบบที่โดดเด่นและมีความหลากหลายมากกว่ากิ้งกือชนิดอื่นๆ ที่เคยพบมาก่อนหน้านั้น เป็นทั้งแรงดึงดูดและคำเตือนสำหรับนักล่าในห่วงโซ่อาหาร

Apheloria polychrome นั้นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของกิ้งกือที่เพิ่งถูกค้นพบในพื้นป่าของเทือกเขาคัมเบอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย โดยพบลำตัวมีเปลือกแข็งสีดำหุ้มอยู่ภายนอก มีจุดสีที่แตกต่างกัน ส่วนขามีสีแดงหรือสีเหลือง ซึ่งในส่วนของเปลือกหุ้มที่มีลวดลายหลากหลายจะถูกเคลือบไว้ด้วยสารไซยาไนด์ (Cyanide) ที่เป็นพิษ ทั้งนี้เกิดจากกลไกการป้องกันตัวที่พบได้ทั่วไปในกิ้งกือและสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่จะมีการหลั่งของสารเคมีอย่างเช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) หรือเบนซิลไซยาไนด์ (Benzoyl cyanide) เมื่อพวกมันรู้สึกถึงภัยคุกคามและถูกรบกวน นอกจากนี้ กิ้งกือยังปล่อยสารเคมีอื่น ๆ เช่น เมนดีโลไนไตรล์เบนโซเอต (Mandelonitrile benzoate) และเบนซาลดีไฮด์ (Benzaldehyde) ที่เป็นทั้งสารพิษในการป้องกันตัวและเป็นยาปฏิชีวนะในบางครั้ง

กิ้งกือจะใช้อาวุธเคมีของพวกมันแตกต่างกัน บางตัวจะค่อย ๆ ปล่อยสารออกมาจากต่อมชนิดพิเศษ ในขณะที่บางตัวจะม้วนตัวเพื่อบีบสารพิษออกมา หรือพ่นสารไปยังผู้ล่าโดยตรง ทั้งนี้ตัวของพวกมันเองจะไม่ได้รับอันตราย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่อสารพิษที่ผลิตขึ้นเอง และนั่นจึงเป็นความพิเศษที่ทำให้กิ้งกือแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ยิ่งกว่านั้น กิ้งกือชนิดนี้ยังมีรูปแบบของสีสันที่พวกมันใช้หลบเลี่ยงต่อนักล่าอย่างน้อย 6 รูปแบบ ที่แตกต่างกันอาทิ มีลำตัวสีดำ มีจุดแต้มตามลำตัวสีเหลือง ขาสีเหลือง หรือมีลำตัวสีดำ จุดแต้มสีขาว และมีขาสีแดง เป็นต้น

กิ้งกือ A. polychrome หรือได้รับการขนานนามว่าเป็น “Colorful Cherry Millipede” โดยในส่วนเชอร์รี่นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสีสัน แต่หมายถึงกลิ่นของเบนซาลดีไฮด์จากเบนซาลดีไฮด์ ไซยาโนไฮดริน (benzaldehyde cyanohydrin) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สังเคราะห์ขึ้นและเก็บไว้ในต่อมพิเศษ เมื่อพวกมันรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม มันจะหลั่ง cyanohydrins ออกมาจากต่อมพิเศษ และแตกตัวโดยมีเอนไซม์เป็นตัวเร่งเพื่อสร้าง Hydrogen cyanide (HCN) และปล่อยแก๊สนั้นออกสู่สภาพแวดล้อมในทันที เพื่อป้องกันตัวเองจากนักล่าทั้งหลายที่เข้าใกล้มัน

นอกจากนี้ ทางด้าน แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้เคยให้คำแนะนำถึงอันตรายของกิ้งกือ เอาไว้ด้วยว่า “กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้น ที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดสองข้างลำตัว สามารถฉีดสารพิษพุ่งออกไปได้ไกล สารพิษมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น”…..

อ้างอิง @scimath,@กรมการแพทย์