วันศุกร์, 25 เมษายน 2568

สอบ ก.พ. 2565 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 สิ่งที่ต้องเตรียม ก่อนพลาด

สอบ ก.พ.2565 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 09.00 – 12.00 น

“สอบ ก.พ.2565” หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เปิดดำเนินการสมัครสอบ ก.พ. ภาค ก. เพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2565 และเปิดดำเนินการสอบ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 09.00 – 12.00 น. สำนักงาน ก.พ. ได้เปิดเผย 4 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ ในการสอบ ก.พ.2565 ซึ่งผู้เข้าสอบ จะต้องอัปโหลดรูปถ่าย ซึ่งถ้าหากไม่อัปโหลดรูปถ่ายจะไม่สามารถพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ และไม่สามารถเข้าสอบได้ในวันดังกล่าว 

ขั้นตอนการค้นหาสถานที่สอบ และพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ คลิกที่นี่

  1. เลือกเมนู ค้นหาสถานที่สอบ และพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ
  2. กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และกรอกรหัสตัวเลข
  3. กดปุ่มพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ
  4. ตอบแบบประเมินความพึงพอใจ

ระเบียบการสอบ ก.พ.2565

สิ่งที่อนุญาตให้นำเข้าห้องสอบ 

  • ดินสอที่มีความดำเท่ากับ 2B หรือมากกว่า
  • ปากกา
  • ยางลบ

เอกสารที่ใช้แสดงตนในการเข้าห้องสอบ ก.พ.2565

  1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ
  2. บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ
  3. ใบอนุญาตขับรถ หรือ
  4. หนังสือเดินทาง หรือ
  5. บัตรประจำ ตัวข้าราชการกลาโหม หรือ
  6. บัตรประจำ ตัวทหารกองประจำการ หรือ
  7. เอกสารรับรองรายการบัตรประจำตัวประชาชน

4 เรื่องต้องรู้วัน สอบ ก.พ.2565

1. อัปโหลดรูปดีไม่มีเบลอ รูปถ่ายที่อัปโหลด ต้องเป็นรูป ดังนี้

  • รูปถ่ายหน้าตรง
  • ไม่สวมหมวก
  • ไม่สวมแว่นดำ
  • พื้นหลังไม่มีลวดลาย
  • ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน 
  • ขนาดไฟล์ 40-100 kb ประเภทไฟล์ JPG เท่านั้น

ทั้งนี้ หากไม่อัปโหลดรูปถ่ายจะไม่สามารถพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ และไม่สามารถเข้าสอบได้

2. บัตรประจำตัวสอบ 

  • ปริ๊นท์บัตรประจำตัวสอบ “สีหรือขาวดำก็ได้” จากเว็บไซต์ job3.ocsc.go.th คลิกที่นี่ ลงชื่อและตรวจสอบว่ามีความคมชัด ไม่เบลอ

3. เมื่อถึงสนามสอบ 

ก่อนเข้าห้องสอบแสดง

  • บัตรประจำตัวสอบ
  • บัตรแสดงตน

– บัตรประจำตัวประชาชน
– ใบอนุญาตขับรถที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
– หนังสือเดินทางฉบับจริง
– เอกสารรับรองรายการบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง

  • ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสนามสอบ

4. สิ่งของที่ห้ามนำเข้าห้องสอบ

  • เครื่องมือสื่อสาร
  • เครื่องบันทึกภาพ / เครื่องบันทึกเสียง
  • เครื่องคิดเลข อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • นาฬิกาทุกชนิด 
  • เอกสาร ตำราหนังสือ 
  • กระเป๋า

ก.พ. คืออะไร ใครบ้างที่ควรสอบ ก.พ.

ก.พ. ย่อมาจาก คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “สอบ ก.พ.” อยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบในการสอบคัดเลือกบุคคล เพื่อเข้ามาทำงานให้กับหน่วยงานราชการของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องสอบวิชาต่อไปนี้

  1. วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
  2. วิชาทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
  3. วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)

ดังนั้น ผู้ที่สนใจอาชีพสายงานราชการ จะต้องผ่านเกณฑ์การสอบระบบกลาง ภาค ก ของ ก.พ. ก่อนที่จะไปยื่นสมัครสอบคัดเลือกตามหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบรรจุเข้ารับราชการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของแต่ละหน่วยงาน


ขั้นตอน และวิธีสมัครสอบ ก.พ.

สำหรับระดับวุฒิการศึกษาของผู้ที่สามารถสมัครสอบ ก.พ. ทางสำนักงาน ก.พ. ระบุว่า ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาที่เปิดรับสมัคร ระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่น ที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในทุกสาขาวิชา โดยสามารถดำเนินการสมัครสอบตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
 

  1. เข้าเว็บไซต์ http://job2.ocsc.go.th คลิกเลือกหัวข้อ “สมัครสอบ” เพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้น คลิกเลือกหัวข้อย่อย “สมัครสอบ”
  2. กรอกข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ตรวจสอบสิทธิการสมัครสอบ เลือกรอบสอบ และเลือกศูนย์สอบที่ต้องการ โดยระบบจะกำหนดแบบฟอร์มการชำระเงินให้อัตโนมัติ
  3. พิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูลในรูปแบบ File ได้
  4. ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ เป็นเงินจำนวน 330 บาท ภายในเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นใบสมัครสอบจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ
  5. การสมัครสอบจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบเรียบร้อยแล้ว
  6. หลังชำระเงินแล้ว 1 วัน ให้เข้าตรวจสอบสถานะการสมัครสอบ โดยสามารถอัปโหลดรูปถ่ายเพิ่มได้ หากไม่มีรูปถ่าย จะไม่สามารถยืนยันตัวตนได้
  7. พิมพ์บัตรประจำตัวสอบ พร้อมลงลายมือชื่อ หากไม่มีบัตรประจำตัวสอบจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ