คนในพื้นที่เชียงรายต้องเผชิญฝุ่น PM 2.5 มลพิษทางอากาศที่เลวร้ายอย่างหนักมีผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะพื้นที่ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ทะลุเกิน 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องมา 3 วัน สูงเกินค่ามาตรฐานของไทย เฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบไปทั่วภาคเหนือและอีสาน จนถึงวันที่ 2 เม.ย. จากการคาดการณ์ของกรมอนามัย โดยเฉพาะจังหวัดติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากลมนิ่ง มีการเผาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน พบจุดความร้อนสะสมในเดือนมี.ค. สูงถึง 25,209 จุด จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้แสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และผู้มีโรคหัวใจ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจจะอาการรุนแรงมากขึ้น หากได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากเป็นเวลานาน จะเกิดการอักเสบภายในร่างกาย จนระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอดถูกทำลาย ส่งผลต่อระบบหัวใจ หลอดเลือดและในระยะยาวจะป่วยเป็นมะเร็ง
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 27 มี.ค. -2 เม.ย. มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น และลมทางใต้กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นออกจากพื้นที่ แต่วันที่ 3 เม.ย. พื้นที่กทม.อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่จากทางทิศตะวันตก และวันที่ 28 มี.ค. – 3 เม.ย. พื้นที่ภาคเหนือตอนบนควรเฝ้าระวังโดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และวันที่ 31 มี.ค. – 2 เม.ย. สถานการณ์อาจบรรเทาลง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น
ฝุ่นผสมสารมะเร็ง วิกฤติยาวในเชียงราย ถึงกลาง เม.ย.
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นพิษก่อวิกฤติต่อสุขภาพต่อเนื่อง มีองค์ประกอบทางเคมี อย่างปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งองค์การอนามัยโลก กำหนดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 ยิ่งสร้างความกังวลให้กับ “รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เพราะขณะนี้ไทยมีการเผาในที่โล่งอยู่อันดับ 2 ของอาเซียน เป็นประเทศที่เผาต่อเนื่อง แซงหน้าสปป.ลาว
แม้ฝุ่นข้ามพรมแดนจะดีขึ้นก็ตาม ได้ทำให้สุขภาพคนในพื้นที่ภาคเหนือโคม่าหนักเป็นอันตรายมาก จากอากาศผสมสารมะเร็ง โดยเฉพาะอ.แม่สาย จ.เชียงราย อันตรายมาก เกินกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกรงว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในเชียงราย อาจลากยาวไปถึงกลางเดือนเม.ย. เนื่องจากฝนน้อยกว่าค่าปกติ และควบคุมการเผาไม่ได้ ต้องรอธรรมชาติเข้ามาช่วย ส่วนการทำฝนเทียม ไม่ได้ทำได้ง่าย เพราะไม่มีเมฆ อากาศยกตัวสูงไม่เอื้อต่อการทำฝนเทียม
“สาเหตุหลักๆ จากการเผาข้าวโพดในที่โล่งแจ้งเพิ่มขึ้น จนจุดความร้อนในไทยแทบไม่ลดลง และอากาศปิด เกิดภาวะฝาชีครอบต่ำ ทำให้ฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสูงมากไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ และยังไม่มีพรรคการเมือง หรือกระทรวงใดกล้าแตะต้อง น่าเศร้าใจแทนสุขภาพของประชาชนไทยมากๆ และคนอยู่ในห้องแอร์ มีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ ไม่น่าห่วงมาก แต่ยังมีอีกหลายๆ บ้าน ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด และรัฐ ไม่ได้ช่วยเหลือในการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย หรือสร้างห้องปลอดฝุ่น มีแต่ภาคประชาสังคม ขอรับบริจาค ทั้งๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ”
แก้ฝุ่นพิษ ต้องใช้หลักเชิงเศรษฐศาสตร์ ลดการเผา
ตั้งแต่ปี 2562 ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานยังไม่มีการพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ไม่แน่ใจว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ในการแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง ใช้การได้จริงหรือไม่ ถือเป็นช่องว่างในการแก้ปัญหา และฝุ่นข้ามแดนไม่เคยมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนแทบไม่ทำอะไร ไม่มีการแสดงให้เห็นความพยายามที่จะหารือ และการลงลึกเรื่องความช่วยเหลือระหว่างกัน ยกเว้นการบอกให้คนหยุดเผา ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่ต้องใช้ต้นทุน หากไม่ให้ปลูกข้าวโพดจะให้คนรายได้น้อยเหล่านั้นทำอะไร ทางภาครัฐต้องช่วยเหลือในเรื่องการเงินโดยมีเงื่อนไข และให้เวลาค่อยๆ ปรับตัว อย่างเคยเผา 1 หมื่นจุด อาจลดลงเหลือ 8 พันจุด
แนวทางแก้ปัญหาต้องใช้หลักการทางเชิงเศรษฐศาสตร์ เริ่มจากการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข วางกลยุทธ์ให้มีการปรับตัว ขณะเดียวกันต้องใช้เงินช่วยเหลือ อาจส่งเสริมเศรษฐกิจแบบการแบ่งปันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประเทศเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว ลดการเผาให้สามารถนำฟางข้าวโพดมาขายโรงไฟฟ้าในไทย และใช้เวทีแลกเปลี่ยนความรู้
หรือแม้แต่ในไทย ต้องใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ก่อนบังคับอย่างจริงจังใน 4-5 ปีข้างหน้า หากไม่ให้ความร่วมมืออาจใช้มาตรการเข้มงวดระบุที่มาของข้าวโพด หากปลูกในจุดที่มีการเผา ก็ห้ามนำเข้ามาในไทย หรือออกมาตรการภาษีก่อมลพิษ และต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ หลังจากนั้นมีบทลงโทษเหมือนสิงคโปร์ ทำการฟ้องบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือยังเผาอยู่ จะไม่ปล่อยเงินกู้ดอกต่ำให้การช่วยเหลือ
“ภาคการเมืองต้องมุ่งมั่นแก้ไขให้ความสำคัญ และภาคการเงินต้องเอาด้วย ที่ผ่านมา 4 ปี ไม่มีมาตรการด้านป่าไม้ ไม่สามารถหยุดการเผาได้ เพราะงบน้อย ต้องใช้มาตรการราคาถูกแก้ไขไปวันๆ ไม่ให้ความสำคัญด้านเศรษฐศาสตร์ และสุดท้ายต้องใช้มาตรการให้คนตระหนักถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อย่างคนในลาว ก็ไม่รู้ว่าเป็นฝุ่นพิษ คิดว่าเป็นหมอกธรรมดา ก็ถอดหน้ากากอนามัยออกไปข้างนอก เป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัวที่ไม่รู้อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 และการส่งสัญญาณเตือนของภาครัฐ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโลก ให้ค่ามาตรฐานฝุ่นหย่อนยาน ยึดเศรษฐกิจมากกว่าสุขภาพคนไทย คงคิดว่าปอดคนไทยไม่พังง่ายๆ”
ขณะที่การสร้างหอฟอกฝุ่นในบางพื้นที่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำ หากใครอยู่ในพื้นที่มีหอฟอกฝุ่น ก็ดีไป แต่ควรแก้ปัญหาที่ต้นทางเรื่องแหล่งกำเนิดฝุ่น จากปัญหารถเก่าควันดำเต็มถนนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด โรงงานอุตสาหกรรมก็ยังไม่มีข้อมูลการปล่อยมลพิษจากปลายปล่องโรงงาน ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบและช่วยตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ยังคงปล่อยฝุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างทั่วถึง อย่าทำเหมือนลูบหน้าปะจมูก เพราะสุขภาพคนไทยประนีประนอมไม่ได้
ฝุ่นพิษ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ฝากรัฐบาลใหม่ แก้ไขจริงจัง
ในแง่ความเสียหายจากผลกระทบฝุ่น PM 2.5 พบว่าปี 2562 มีมูลค่าความเสียหาย 2.17 ล้านล้านบาท หรือ 9% ของจีดีพี จากการเจ็บป่วยของประชาชนจนเสียโอกาสในการทำงาน และการป่วยเป็นมะเร็งต้องใช้เงินหลักล้านในการรักษา รวมถึงก่อผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาคเหนือ กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ จากกิจกรรมต่างๆ ที่หยุดไป ซึ่งในส่วนนี้มีมูลค่าความเสียหาย 6 พันกว่าล้านบาทในปี 2562 ส่วนปี 2566 ต้องประเมินอีกครั้ง อาจน้อยกว่าปี 2566 เพราะเพิ่งฟื้นจากโควิด
สรุปแล้วรัฐบาลต้องจริงจังในการแก้ปัญหา คาดหวังว่าพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะต้องทำให้การเผาลดลง ต้องมีระบบเตือนภัย ไม่ใช้อำนาจแค่การสั่งการ และควรจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเข้ามาดูแลแก้ไข หรือกรมควบคุมมลพิษ ควรมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาด ไม่ใช้มาตรการบังคับแบบเดิม จะต้องเป็นกฎหมายที่สามารถบูรณาการข้ามกระทรวงได้
“อยากฝากรัฐบาลใหม่ให้ใช้มาตรการจูงใจในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่น และมีการติดตามประเมินผล เชื่อว่าในอนาคตคนไทยจะปรับเปลี่ยนได้ เพราะจากบทเรียนฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือทำให้คนลำบากมาก ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะในกทม.เท่านั้น จะต้องแก้อย่างทั่วถึง”.
ที่มา https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2666316