การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนเที่ยวงานวิจิตร ๕ ภาค@เชียงราย “หลงแสงเวียง ที่เจียงฮาย” จัดเต็มแสง สี เสียงตระการตาไปกับเส้นทางแห่งกาลเวลาที่สว่างไสวด้วยแสงแห่งประวัติศาสตร์กับ 15 จุดแสงสำคัญทั่วอำเภอเมืองเชียงราย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-28 พฤษภาคม 2566 ณ อำเภอเมืองเชียงราย ตั้งแต่เวลา 18.00 น. – 24.00 น. ภายใต้แนวคิด “หลงแสงเวียง ที่เจียงฮาย” นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางไปเยี่ยมชมและส่งต่อประสบการณ์ผ่านสื่อ Social Media ในวงกว้าง ด้วยรูปแบบการจัดงานเทศกาล แสง สี เสียง กับเทคนิค Light up / Mapping / Projection 3D / Light installation และสื่อผสมที่ทันสมัย ที่สะท้อนเอกลักษณ์ / อัตลักษณ์ของท้องถิ่น สามารถต่อยอดไปสร้างเส้นทางให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมตามจุดต่างๆ ในลักษณะ Walking Tour เล่าเรื่องเมืองเชียงรายผ่านสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ 15 แห่ง รวมระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ได้แก่
1. หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ: สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ออกแบบโดย ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Celebrated Time ที่สื่อถึงช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของคนเชียงราย ใช้เทคนิค Moving Head Beam กับลำแสงสีทอง เงิน นาก เคลื่อนไหวไปพร้อมจังหวะการเดินของเข็มนาฬิกา บอกเล่าถึงการเดินทางของเวลาที่เดินหน้า หรือเดินถอยหลังสู่อดีตกาล
2. ถนนเชื่อมหอนาฬิกา: ถนนสุขสถิตย์หนึ่งในถนนย่านค้าขายสําคัญของเมืองเชียงรายยุคใหม่ ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และการคมนาคม ถือเป็นลมหายใจหนึ่งของการเติบโตของเมือง จัดแสดงภายใต้แนวคิด Connected ใช้เทคนิค Laser & Mirror ยิงแสงเลเซอร์ถักเป็นตาข่าย ลอยสุขสถิตย์เหนือผืนถนน สร้างคลื่นแสงเชื่อมสองเวลาและสองสถานที่เข้าหากัน
3. หอนาฬิกา (เก่า): หอนาฬิกาเก่าของจังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510 ได้ย้ายจากถนนบรรพปราการ หรือที่ตั้งหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ในปัจจุบันไปตั้งไว้ที่ตลาดสดเทศบาล บริเวณสามแยกโรงรับจำนำ ซึ่งอยู่ห่างจากหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ประมาณ 350 เมตร จัดแสดงภายใต้แนวคิด Classical Time หนึ่งในตัวแทนความคลาสสิคของยุคสมัย ใช้เทคนิคแสง Luminous Light แสงสีขาววางล้อมหอนาฬิกา อวดโฉมเวลาหนึ่งช่วงในอดีตที่เคยเป็นตัวแทนความเจริญของเมืองยุคใหม่
4. มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์: มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงราย ตั้งอยู่ที่ถนนบรรพปราการ ภารกิจหลักของมูลนิธิฯ เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณะกุศลโดยจะมีกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเย็น เช่น รำไทเก๊ก รำมวยจีน รำกระบี่ เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย อาคารแห่งนี้มีการตกแต่งอย่างสวยงามตามสไตล์จีน ด้านในมีจุดไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองเชียงราย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Power of Gods การไหว้บูชาเหล่าเทพเจ้าขอพร ใช้เทคนิค Red & Gold Lights แสงสีแดงและสีทอง ตัวแทนความมั่งคั่งและโชคดี
5. วัดมิ่งเมือง: วัดมิ่งเมือง ชาวเชียงรายเรียก วัดจ๊างมูบ (ช้างหมอบ) หรือ วัดตะละแม่ศรีตามชื่อผู้สร้าง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงรายมีสถาปัตยกรรมผสมระหว่างพม่าและล้านนาวิจิตรงดงามทั้งภายในและภายนอก จัดแสดงภายใต้แนวคิด Multi Culture Multi-Colors หนึ่งศรัทธา มากศิลป์ ใช้เทคนิคแสง Led Par Light เลือกใช้คู่สีแสงที่มีความต่อเนื่องและขัดแย้งกันเพื่อขับเน้นศิลปกรรมที่ผสมผสานแปลกตา
6. ตึกสามเหลี่ยม: ตึก 3 ชั้นทรงแปลกตา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาคารแนวโมเดิร์นของธนาคารแห่งหนึ่งของเมืองเชียงรายในยุค 80s จัดแสดงภายใต้แนวคิด Neon Era ใช้เทคนิคแสง Led Neo Light ไฟนีออนที่ไม่ใช่สิ่งส่องสว่าง แต่ได้รับการใช้งานและจัดวางเป็นงานศิลปะและเป็นเอกลักษณ์ที่สําคัญหนึ่งของยุคสมัย
7. แมงสี่หูห้าตา: เป็นชื่อสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งในตํานานว่าด้วยวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว มีลักษณะเหมือนหมีสีดําตัวอ้วน มีหูสองคู่และตาห้าดวง รับประทานถ่านไฟร้อนเป็นอาหารและถ่ายมูลเป็นทองคํา แมงสี่หูห้าตา ยังเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นมาสคอต กีฬาแห่งชาติครั้งที่ 36 “เจียงฮายเกมส์” อีกด้วย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Fire Monster ใช้เทคนิคแสง Lantern Installation หุ่นโคมไฟแมงสี่หูห้าตา ขนาดใหญ่ ในท่ากําลังปีนต้นก้ามปูยักษ์หน้าอาคารเทิดพระเกียรติ ที่มาพร้อมกับเสียงแมลงกลางคืน + เสียงสะล้อ
8. วัดพระแก้ว: ตั้งอยู่บนถนนไตรรัตน์ ใจกลางเมืองเชียงราย เป็นสถานที่แรกที่ได้ค้นพบพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ ในปัจจุบันตามประวัติเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นเจ้าครองเมืองเชียงใหม่ ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมาจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบันวัดพระแก้วเชียงราย ได้สร้างและประดิษฐานพระหยก ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Jade Begins กำเนิดแสงมรกต ใช้เทคนิคแสง Green Light & Laser ติดตั้งเครื่องยิงเลเซอร์วาดภาพพระแก้วมรกตประกอบไฟแสงสีเขียวย้อนรําลึกถึงการค้นพบพระแก้วมรกตเป็นแห่งแรก
9. ศาลากลางจังหวัด (เก่า): ศาลากลางจังหวัดเชียงรายแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่า 120 ปี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยอธิบายความเป็นมาเป็นไปของสังคมเชียงรายสมัยนั้นได้ดียิ่ง เปิดดำเนินการเมื่อ ปี พ.ศ. 2443 ในสมัยของพระพลอาษาเป็นข้าหลวงเมืองเชียงราย ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโดยนาย แพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ (Dr. William A. Briggs) แพทย์ชาว อเมริกัน ปัจจุบันอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2520 ยุติบทบาทในการเป็นอาคารศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองเชียงรายมานานกว่า 1 ศตวรรษ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Wiang of Light Wiang of Life อาคารที่สัมพันธ์กับชาวเชียงราย ดูแล พัฒนา และเฝ้ามองการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของเมืองจากอดีตสู่ปัจจุบันใช้เทคนิคแสง Projection 3D Mapping ใน 2 เรื่อง ได้แก่
เรื่องที่ 1: Concept Motion Chiang Rai, Wiang of Light เล่าถึงที่มาของแนวคิดของการจัดงาน นําเสนอเส้นทางการชมทั้ง 15 จุดแสงในเมือง และเรื่องที่ 2: Content Motion Chiang Rai, Wiang of Life นําเสนอของดีของเด่น ของจังหวัดเชียงราย อาทิ อาหาร วัดธรรมชาติศิลปะ กลุ่มชาติพันธุ์ชา-กาแฟ ผลไม้ ด้วยกราฟฟิกสนุกชวนดู
10. บ้านสิงหไคล: บ้านสิงหไคล เป็นอาคารโบราณอายุ 103 ปี ออกแบบโดยนายแพทย์วิลเลียม เอ.บริกส์ปัจจุบันบ้านสิงหไคลฯ ได้รับการบูรณะ และปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการมูลนิธิมดชนะภัย โดยมีเป้าหมายในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของภัยพิบัติในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวทางศิลปะและเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้กับประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเชียงรายเมืองศิลปะ โดยบริเวณชั้น 2 ได้เปิดเป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ และบริเวณชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Shape of House ถ่ายทอดความงดงามของบ้านด้วยแสง ใช้เทคนิคแสง Tiny Light Bulbs Par Light ใช้แสงอาบฉาบผิวบ้านด้านนอก และใช้แสงส่องออกมาจากภายในตัวบ้าน ผ่านช่องหน้าต่าง เพื่ออวดสัดส่วนการออกแบบบ้านอันสวยงาม และตกแต่งรอบบ้านด้วยไฟเม็ดถั่ว
11. หอประวัติเมืองเชียงราย: หอประวัติเมืองเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งภายในศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี โดยปรับปรุงอาคารหอประชุมเม็งรายอนุสรณ์เดิม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภูมิหลังของท้องถิ่น พัฒนาการทางสังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการ ภายในได้จัดแสดงเนื้อหานับตั้งแต่ยุคสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ ยุคของการสร้างบ้านเมือง การเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งเป็นเมืองเชียงรายในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังจัดแสดงเรื่องราว วิถีชีวิต ภูมิปัญญา การเมืองการปกครองและ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันน่าภูมิใจของคนเชียงราย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Night Museum ขยายเวลาเปิดดําเนินการภาคกลางคืนสําหรับนักท่องเที่ยวในช่วงงาน ใช้เทคนิคแสง Colorful of Par Light ตกแต่งแสงอาคารด้านนอกด้วยไฟหลากสีเพื่อเชื้อเชิญให้เข้าชมนิทรรศการภายในอาคาร
12. ตู้โทรศัพท์: ตู้โทรศัพท์สาธารณะหยอดเหรียญ คืออีกหนึ่งของประวัติศาสตร์การสื่อสารของคนเชียงรายที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างไม่มีวันหวนคืน จัดวางไว้ยังหน้าบ้านพักข้าราชการคลัง ริมถนนอันเงียบเหงา จัดแสดงภายใต้แนวคิด Silent Call ใช้เทคนิคแสง Light Inside Box-Phone ติดตั้งแสงภายในตู้โทรศัพท์คืนชีวิตด้วยสีสันตื่นเต้นชวนมอง พร้อมเสียงโทรศัพท์ประกอบดนตรี
13. ต้นไม้ใหญ่: อุโมงค์ต้นจามจุรี หรือต้นฉำฉาหรือต้นก้ามปูขนาดใหญ่ บริเวณถนนสิงหไคล นับสิบต้นที่อยู่สองฝั่งถนน แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุม สร้างความร่มรื่นไปทั่วบริเวณ นอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้ที่ทางเทศบาลนครเชียงรายอนุรักษ์ไว้เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่คาดว่ามีอายุนับร้อยปี เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ควบคู่กับประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Eco Friendly เลือกใช้กลุ่มต้นไม้ใหญ่บริเวณริมถนนสิงหไคล เป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า การรักษาระบบนิเวศ และความยั่งยืนร่วมกันของคนเชียงรายกับป่าไม้ ใช้เทคนิคแสง Light Down From Tree ติดตั้ง Mirror Ball บนยอดไม้แล้วยิงแสงกระทบใส่สร้างซีนแสงแปลกตา
14. สวนตุงและโคม: สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา เดิมคือพื้นที่เรือนจําโบราณ ตั้งอยู่ใจกลางย่านการค้าเทศบาลนครเชียงราย มีอายุเก่าแก่มากว่า 100 ปี ต่อมามีโครงการย้ายเรือนจําออกไป และปรับพื้นที่จนกลายเป็นลานสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางนครเชียงราย โดยสวนบางส่วนถูกปรับให้เป็นสวนหย่อม นอกจากนี้ด้านในยังมีเรือนจําหญิงที่ถูกปรับให้เป็นอาคารแสดงศิลปะการแต่งกายชนเผ่า 30 ชนเผ่า ด้านข้างอาคารมีตุงเฉลิมพระเกียรติ ความสูง 36 เมตร กรอบตุงมีลวดลายสัญลักษณ์ปีนักษัตร โดยช่างฝีมือของท้องถิ่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองล้านนาร่วมสมัย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Wiang Flower ดอกพวงแสด ดอกไม้ประจําจังหวัดเชียงราย ใช้เทคนิคแสง Light Installation ประติมากรรมดอกพวงแสดส่องแสงประกอบฉากแสงสีส้ม
15. คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย ได้รับสถาปนาเป็นคริสตจักร เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1890 โดยยังไม่มีอาคารพระวิหาร ต่อมาในปี ค.ศ. 1910 – 1911 นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ บริกส์ จึงรวบรวมเงินจากผู้ศรัทธา เพื่อซื้อที่ดินสร้างอาคารพระวิหาร โดยต้ังอยู่บริเวณประตูเมืองเชียงราย ที่เรียกว่า “ประตูสลี” ซึ่งเป็นที่ตั้งคริสตจักรในปัจจุบัน โบสถ์หลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อสิ้นสุดมหาสงครามเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ราวปี ค.ศ. 1946 หลังชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากถูกยึดใช้เป็นส่วนหนึ่งของเขตทหารที่มาตั้งมั่นอยู่ในเมืองเชียงราย เมื่อเสร็จสงครามเหล่าคริสเตียนจึงยินดีที่ได้กลับมาใช้โบสถ์นี้เป็นที่นมัสการอีกครั้ง จัดแสดงภายใต้แนวคิด In Light of Faith ด้วยแสงแห่งศรัทธาของคริสตศาสนิกชนเวียงเชียงราย ใช้เทคนิคแสง Light VS Shadow การต่อสู้กันระหว่างแสงและเงา
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม Highlight ซึ่งจะมีการจัดแสดงทุกวันศุกร์-อาทิตย์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) อาทิ การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น การแสดงดนตรี การออกร้าน จากผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งการมอบสิทธิพิเศษส่วนลดจากร้านค้ามากมาย อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ที่เข้าร่วมในโครงการฯ รวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage: GoNorthThailand โดยผู้ที่สนใจสมารถเดินชมงานในลักษณะ Walking Tour หรือจะ ใช้บริการรถรางนำเที่ยวที่ให้บริการฟรีตลอดงาน หรือพาหนะท้องถิ่นอย่างสามล้อเชียงรายโดยคิดค่าบริการตามระยะทาง.
อ้างอิง mgronline.com