
องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ที่มี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นที่ปรึกษา พร้อมด้วยความร่วมมือจากองค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้เปิดตัว “เทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2564” หรือ “Chiang Rai Sustainable Design Week 2021” ไปเมื่อเร็วๆ นี้
เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญในการจัดกิจกรรมนานาชาติ ด้านการออกแบบบริการ (Service Design) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” มีเป้าหมายให้เทศกาลนี้ ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และบรรจุในปฏิทิน World Design Week ภายในระยะเวลา 3 ปีจากนี้
ภายใต้การแถลงความร่วมมือระหว่าง นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รศ.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย และ นางจุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ ถึงการจัดเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2564 ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย ถนนสิงหไคล อ.เมือง จ.เชียงราย
การจัดงานครั้งแรกในปี 2564 อยู่ภายใต้แนวคิด “ความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม” เพื่อส่งเสริม และสนับสนุน นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ตลอดจนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เน้นวิถีความยั่งยืน ให้มีพื้นที่ในการนำเสนอผลงาน จำหน่ายสินค้า และทดลองตลาดผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อีกทั้ง ยังสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และขยายผลในระดับชาติ เชื่อมโยงระดับนานาชาติ ระหว่างเครือข่ายด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ให้มีศักยภาพในการปรับตัว และสร้างโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ
กิจกรรมเหล่านี้ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อแสดงศักยภาพ และส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบการบริการ และผลักดันให้ จ.เชียงราย เข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด ในการเป็นเมืองแห่งการค้า การลงทุน การเกษตร และการท่องเที่ยวที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรม
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานเปิดงาน กล่าวว่า เทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืนเชียงราย มีเป้าหมายตรงกับนโยบายของจังหวัด ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ในการเตรียมเปิดการท่องเที่ยว โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้คัดเลือก จ.เชียงราย และ จ.เพชรบุรี เพื่อเสนอชื่อเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก
“วันนี้เชียงรายจึงประกาศตัวเป็นเมืองออกแบบเพื่อความยั่งยืน ด้วยมีความเหมาะสมในทุกประการ โดดเด่นเรื่องของการออกแบบ ถือเป็นนครแห่งศิลปะ และมีศิลปินกว่า 300 ชีวิต ปัจจุบันอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ มาดูแลเรื่องของศิลปะในทุกแขนงที่อยู่ใน จ.เชียงราย นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งชา และกาแฟ เป็นเมืองแห่งกีฬา สามารถบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันเป้าหมายให้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ไม่ใช่เพียงแค่คนเชียงราย แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศ หากติดอันดับโลก นั่นหมายความว่าย่อมเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก” ผู้ว่าฯ เชียงราย กล่าว
สำหรับเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในจังหวัด ในเรื่องของการออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน สถานที่ ประติมากรรมตามท้องถนนต่างๆ รวมทั้ง เทศกาลด้าน Service Design ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เช่น มหกรรมไม้ดอกอาเซียน และงานเชียงรายดอกไม้งาม ถือเป็นหนึ่งในมหัศจรรย์ของเมืองเชียงราย กิจกรรมงานต่างๆ จะมีรูปแบบสอดคล้องกับการออกแบบสร้างสรรค์ตามแนวคิดของจังหวัด
“เราไม่โตแบบศิวิไลซ์ เราต้องการโตแบบธรรมชาติผสมผสานด้วยวัฒนธรรม งานศิลปะที่มีความร่วมสมัย มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนล้านนาในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองแห่งศิลปะอย่างยั่งยืน” นายภาสกร กล่าว
ทั้งนี้ จ.เชียงราย มีแนวคิดที่จะเปิดเมืองเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง โดยมุ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย อีกทั้ง การเปิดเมืองของ จ.เชียงราย ไม่ได้เปิดไปตามความรู้สึก หรืออารมณ์ แต่เปิดด้วยพื้นฐานของข้อมูลจำนวนการฉีดวัคซีน จำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในแนวโน้มปลอดภัยที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม เมื่อความปลอดภัยถึงจุดที่กำหนดไว้ ก็พร้อมที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยการขับเคลื่อนไปพร้อมมาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
รศ.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล.กล่าวว่า นับเป็นการประสานความร่วมมือกันที่เข้มแข็งของหลายภาคส่วน เพื่อผลักดัน จ.เชียงราย สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ให้เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
“เชียงรายเป็นเมืองที่มีความมหัศจรรย์ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมอันสวยงาม นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองแห่งชา และกาแฟ และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นี้ เป็นเรื่องสำคัญของ จ.เชียงราย ซึ่ง มฟล.อยากเป็นตัวกลางเชื่อมโยงหลายภาคส่วน บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ทั้งในเรื่องความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญ ศิลปินที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ของเชียงราย มฟล.อยากสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสืบสานมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืน” อธิการบดี มฟล.กล่าว
รศ.ชยาพรกล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2021 มีแนวคิดที่สำคัญ คือความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม เชื่อมั่นว่า จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในเมืองไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่จะจัดให้มีความสวยงาม และเกิดผลสำเร็จ สิ่งนี้สำคัญมากๆ ที่จะตอบสนองสิ่งที่พยายามผลักดัน นั่นคือการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะบรรจุให้สิ่งนี้เข้าไปอยู่ในปฏิทินของ World Design Week ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปีที่จะถึงนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสำคัญของ จ.เชียงราย แต่หมายถึงระดับชาติ และระดับนานาชาติด้วย
ทั้งนี้ การเปิดเทศกาลออกแบบเพื่อความยั่งยืน เชียงราย 2564 จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น และเมื่อยูเนสโกประกาศผลออกมา จะทำให้ จ.เชียงราย มีศักยภาพเต็มรูปแบบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
ที่มา https://www.matichon.co.th/education/news_3079479
[…] สถานที่จัดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย […]