“แมงสี่หูห้าตา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ พุทธศิลป์ต่าง ๆ ในเชียงราย ในปี 2550 ผมเช่าบ้านที่พระธาตุดอยเขาควายแก้ว แล้วก็ได้ขึ้นดอยบ่อย ๆ เพื่อไปชมวัด ในช่วงนี้เองที่ผมได้เห็น ‘สัตว์ประหลาด’ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร พอผมไปถามคนอื่นว่าสัตว์ประหลาดตัวนี้คืออะไร คนก็มักจะหัวเราะ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องประหลาด เป็นสัตว์ในตำนานพื้นบ้าน ผมเลยเอาเอกสารพระธาตุดอยเขาควายแก้วกลับอเมริกา โดยตั้งใจว่าจะแปลและทำวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับแมงสี่หูห้าตาให้ได้
“ผมเอาเอกสารโบราณที่ได้มาไปให้อาจารย์สอนภาษาไทย เขาก็สงสัยว่าเรื่องนี้คืออะไร ไม่เคยได้ยิน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่แปลกมาก ผมจึงสู้มาตลอด ผมใช้เวลา 15 ปีที่ผ่านมาเพื่อเรียนการแปลภาษาไทย โดยตั้งใจที่จะนำเสนอประวัติศาสตร์เรื่องแมงสี่หูห้าตา เพราะแมงสี่หูห้าตาเป็นเหมือนตำนาน ‘เลียบโลก’ เพราะไม่ว่าคนเชียงรายจะอพยพถิ่นฐานไปสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหน พวกเขาก็จะนำตำนานแมงสี่หูห้าตาไปด้วยเสมอ”
ดร.แอนโธนี โลเวนไฮม์ เออร์วิน เป็นชาวอเมริกันผู้ทำวิจัยเรื่องศาสนาพุทธในไทยและใช้ชีวิตอยู่ในเชียงราย โดยมี ‘แมงสี่หูห้าตา’ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจใช้เวลา 15 ปีที่ผ่านมาในการทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตำนานพื้นบ้านและความเชื่อทางพุทธศาสนาในเชียงรายโดยเฉพาะ
แมงสี่หูห้าตา สัตว์ในตำนานของชาวล้านนาที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะอย่างแพร่หลาย ชาวล้านนาเชื่อว่าแมงสี่หูห้าตามีลักษณะคล้ายหมี มีขนสีดำปกคลุม มีหูสองคู่ และดวงตาห้าดวง กินถ่านไฟร้อนเป็นอาหารและขับถ่ายเป็นทองคำ ตำนานเก่าแก่ของเชียงรายเล่าขานกันว่าแมงสี่หูห้าตาถูกพบครั้งแรกบริเวณที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วในปัจจุบัน และถูกกล่าวถึงในตำนานการสร้างบ้านแปลนเมืองของชาวเชียงราย ตามตำนานแมงสี่หูห้าตาฉบับครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา ยังอธิบายว่า จำนวนสี่หูและห้าตานั้นแสดงถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาคือ พรหมวิหาร 4 และศีล 5 ตามลำดับ เป็นการให้คติแก่พุทธศาสนิกชนให้พึงรักษาและปฏิบัติหลักธรรมดังกล่าว
“แมง ๔ หู ๕ ตา กินถ่านไฟแดง เป็นทองคำ อาศัยอยู่ในถ้ำดอยเขาควาย แมง ๔ หู ๕ ตา ตัวนี้ เป็นสัตว์ในตำนาน ต้นกำเนิดประวัติการสร้างวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย มีลักษณะตัวดำ อ้วน ขนยาว คล้ายหมีกินถ่านไฟแดงร้อน ๆ เป็นก้อนทองคำอาศัยอยู่ในถ้ำดอยเขาควายแก้วนั่นเอง อ้ายทุกคตะนำไปเลี้ยง ได้ทองคำมากมายเหลือล้น จนได้สร้างรางรินทองคำพาดจากบ้านตูบน้อยของตนออกไปจนถึงปราสาทราชวังเจ้าเมือง แล้วได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาเจ้าเมืองพันธุมตินคร และได้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมือง ต่อมาเป็นพระราชาทรงพระนามว่า พระยาธรรมมิกะราช ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนมีความสงบสุขร่มเย็น พัฒนาบ้านเมืองและวัดวาอารามให้เจริญรุ่งเรืองงาม โดยมาสร้างวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วแห่งนี้ ให้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองในองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกะธาตุ นิ้วก้อยข้างซ้ายขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และเขาควายแก้วของพญาควายเขาแก้วเขาแสงด้วย เพื่อเป็นที่เคารพสักการะบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จะได้กราบไหว้บูชาเกิดบุญกุศลนำตนเข้าสู่สวรรค์นิพพานต่อไป” (จาก ‘เอกสารประวัติเรื่องแมงสี่หูห้าตาฉบับวัดดอยเขาควายแก้ว จังหวัดเชียงราย’)
แม้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้แน่ชัดว่าสัตว์ประหลาดชนิดนี้มีอยู่จริงหรือไม่ แต่พลังของเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ ในเมืองเชียงรายก็นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบร่างสร้างเมืองขึ้นมา ทั้งยังมีพลังในการขับเคลื่อนวิถีชีวิตชุมชนของผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา แมงสี่หูห้าตา ยังได้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เจียงฮายเกมส์ ผ่านการออกแบบโดย ปอย–พจวรรณ พันธ์จินดา ศิลปินชาวเชียงราย ซึ่งนำมาสู่จุดเริ่มต้นกระแสการนำแมงสี่หูห้าตากลับมาสะท้อนผ่านผลงานศิลปะโดยศิลปินเชียงรายมากมาย
‘แมงสี่หูห้าตา’ สิ่งมีชีวิตในตำนานที่สะท้อนรากวัฒนธรรมท้องถิ่นและความภาคภูมิใจทางอัตลักษณ์ของชาวเชียงราย จะมีบทบาทสำคัญและถูกนำมาถ่ายทอดผ่านงานศิลปะอย่างไรบ้าง ติดตามได้ในในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงรายในปลายปี 2023 นี้
ภาพแมงสี่หูห้าตา โดย ครูบาสนอง สุมะโน วาดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2528
ที่มาบทความ https://www.facebook.com/thailandbiennale