ส่วนประกอบของ อาหารเหนือ อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ มีทั้งเนื้อสัตร์ ผักพื้นเมืองต่างๆ และเครื่องเทศที่มีความหอมฉุนเป็นเอกลักษณ์ของทางภาคเหนือ
1) ส่วนประกอบประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านใช้ประกอบอาหาร ได้แก่ ปลา เนื้อควาย วัว ไก่ และเนื้อหมู เพราะถือว่าเป็นอาหารชั้นดี ใช้สำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน และใช้เลี้ยงผู้ที่มาเอาแรง (ลงแขกช่วยงาน)
2) ส่วนประกอบประเภทผัก ผักส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านใช้ประกอบอาหาร ได้แก่ ชะอม ตำลึง มะเขือพวง มะเขือเทศ ต้นหอม ผักไผ่หอมด่วน ใบโกสน ใบเล็บครุต และสะระแหน่ ซึ่งเป็นผักที่เกือบทุกครัวเรือนปลูกไว้ประจำบ้าน นอกจากนี้ยังมีผักที่เก็บหาได้จากธรรมชาติ เช่น เห็ดชนิดต่าง ๆ บอนชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
3) ส่วนประกอบประเภทเครื่องเทศ เครื่องเทศส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านใช้ประกอบอาหาร คือ พริก กระเทียม ข่า มะแขว่น ตะไคร้ และหอมแดง แต่ที่ใช้ในการประกอบอาหารเกือบทุกรายการ คือ พริกและกระเทียม ส่วนข่า ตะไคร้ มะแขว่น และหอมแดง จะใช้ในการประกอบอาหารที่มีกลิ่นคาว หรือกลิ่นสาบของเนื้อสัตว์
4) ส่วนประกอบประเภทปรุงรส อาหารพื้นบ้านภาคเหนือจะมีรสชาติเค็มและเผ็ดเป็นหลัก การปรุงรสเค็ม ชาวบ้านจะใช้ปลาร้า เกลือ กะปิ และน้ำปลา เป็นส่วนประกอบสำคัญตามลำดับ การปรุงรสเผ็ด ชาวบ้านจะใช้พริกเป็นส่วนประกอบสำคัญ พริกที่ใช้ปรุงอาหาร มี 2 ประเภท ได้แก่ พริกสดกับพริกแห้ง พริกสดมี 2 ชนิด คือ พริกขี้หนู กับพริกหนุ่ม ส่วนพริกแห้งก็มี 2 ชนิด คือ พริกขี้หนูแห้งกับพริกชี้ฟ้า การปรุงรสเปรี้ยว ชาวบ้านจะใช้พืชที่ให้รสเปรี้ยวเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น มะเขือเทศ ยอดมะขาม ใบเม่า ยอดส้มป่อย มะกรูด มะนาว มะขามเปียก เป็นต้น
ข้อมูล อาหารพื้นบ้านไทย กองการแพทย์ทางเลือก
เรียบเรียงโดย เชียงราย 108