วันศุกร์, 21 มีนาคม 2568

ชื่อเรียกของพายุแต่ละแห่ง มีที่มาจากอะไรกัน?

หากกล่าวถึงฤดูฝนแล้วนั้น ในแถบภูมิภาคเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทยเรานั้น มีพายุหลาย ๆ ลูกที่พัดผ่านและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ก่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก แล้วท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า พายุแต่ละลูกที่เคลื่อนผ่านในแต่ละเขตพื้นที่นั้นมีชื่อเรียกแปลก ๆ แตกต่างกันไป แล้วเขามีที่มาของพายุจากอะไร และเรียกชื่อแต่ละลูกได้ว่าอย่างไรบ้าง เรามาศึกษาข้อมูลกัน

พายุหมุนเขตร้อนและพายุหมุนกึ่งเขตร้อน จะได้รับการตั้งชื่อโดยศูนย์เตือนภัยต่าง ๆ เพื่อความสะดวกระหว่างนักพยากรณ์อากาศกับประชาชนทั่วไปในการคาดการณ์ ผู้สังเกตการณ์ และการเตือนภัย เนื่องจากระบบของพายุนั้น สามารถมีอายุนานกว่าสัปดาห์หรือมากกว่านั้น และในเวลาเดียวกัน ก็อาจมีพายุเกิดขึ้นได้มากกว่าหนึ่งลูกภายในแอ่งเดียวกัน การตั้งชื่อพายุจึงเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการสับสนเกี่ยวกับพายุแต่ละลูก การใช้ชื่อที่ระบุเฉพาะตัวของพายุหมุนเขตร้อนแต่ละลูกต้องย้อนกลับไปหลายปี พร้อมกับระบบการตั้งชื่อตามชื่อสถานที่หรือสิ่งต่าง ๆ ก่อนจะมีการเริ่มต้นการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ โดยการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการมีใช้กับพายุที่ก่อตัวในแอ่งพายุหมุนเขตร้อนในแอตแลนติกเหนือ พายุหมุนเขตร้อนในแปซิฟิกตะวันออก กลาง พายุหมุนเขตร้อนในแปซิฟิกตะวันตก พายุหมุนเขตร้อนในแปซิฟิกใต้ ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อพายุหมุนเขตร้อนในภูมิภาคออสเตรเลียและพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดีย โดยชื่อต่าง ๆ จะได้รับการกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยเมื่อมีพายุหมุนเขตร้อนมีความเร็วลมเฉลี่ยในหนึ่ง สาม หรือ สิบนาที มากกว่า 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับแอ่งนั้น ๆ นักอุตุนิยมวิทยาใช้วิธีติดตามพายุตามปีที่พวกมันเกิดขึ้น แต่ในบางภูมิภาคของโลกอาจมีพายุได้นับร้อยครั้งในแต่ละปี และแต่ละลูกอาจมีอายุนานหลายเดือน การตั้งชื่อให้กับพายุ จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามพวกมันได้สะดวก นอกจากนี้ มันยังช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ตามสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนชื่อของพายุที่เคยสร้างความเสียหายรุนแรง มักจะถูกทดแทนด้วยชื่อใหม่ ด้วยเหตุผลเพื่อความเหมาะสม เช่น พายุทุเรียน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในฟิลิปปินส์กว่า 1,400 คน ได้ถูกทดแทนด้วยชื่อ มังคุด ในปี 2551 พายุหมุนเขตร้อน (Tropical storm) คือคำทั่วไปที่ใช้เรียกพายุหมุนขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยกิโลเมตร พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด เช่น พายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” (Hurricane) หากเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” (Typhoon) เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นบริเวณที่เกิดพายุหมุนมากที่สุด ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า ” ไซโคลน ” (Cyclone) บางครั้งก็เรียกพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียว่า ” วิลลี-วิลลี ” (Willy-Willy) เกิดมากในเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปโดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ซึ่งในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (ด้านตะวันตก) และทะเลจีนใต้มีการแบ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังนี้พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)พายุไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป เกณฑ์ในการตั้งชื่อเรียกพายุ1.เมื่อมีพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุมากกว่า34 นอต หรือ 63 กม./ชม. พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อต่าง ๆ ตามแหล่งกำเนิด2. ชื่อของพายุจะเริ่มใช้ที่คอลัมน์ที่หนึ่งตัวบนสุดก่อน เช่น เมื่อมีพายุเกิดขึ้นมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลาง ตามที่กำหนด ในข้อ1.เป็นตัวแรกของปี พายุนั้นจะมีชื่อว่า ” Damrey (ดอมเรย์) “3.เมื่อมีพายุตัวต่อไปเกิดขึ้นอีกและมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ1. พายุนั้นจะใช้ชื่อที่อยู่ถัดลงมา เช่น พายุตัวที่สองจะมีชื่อว่า ” Longwang (หลงหวาง) “4.เมื่อใช้จนหมดคอลัมน์ให้ใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่อยู่ถัดไป เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ “Trami (ทรามี)” จะใช้ชื่อ “Kongrey (กองเรย์)”5.เมื่อใช้จนหมดคอลัมน์ที่5 ให้กลับมาใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่ 1 เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ “Saola (เซลลา)” จะใช้ชื่อ “Damrey (ดอมเรย์)” ในส่วนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่น ๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ-ใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และเวียดนาม ทั้งนี้ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ ชื่อพายุแต่ละชื่อ จะเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย โดยไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจึงได้ตั้ง คณะกรรมการพิจารณารายชื่อ และความหมายของชื่อขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนเสนอชื่อพายุในภาษาไทยที่ที่ประชุมของ ศูนย์เตือนภัยพายุไต้ฝุ่นร่วม หรือ เจทีดับบลิวซี (Joint Typhoon Warning Center (JTWC)) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก โดยมีสมาชิกอีก 14 ประเทศในโซนเดียวกันมาร่วมประชุม จนได้ชื่อพายุของไทยตามลำดับได้แก่ พระพิรุณ ทุเรียน วิภา รามสูร เมขลา มรกต นิดา ชบา กุหลาบ และขนุนแหล่งที่มาWorld Meteorological Organization. (2015). Tropical Cyclone Operational Plan for the Bay of Bengal and the Arabian Sea: 2015. pp. 11–12. Tropical Cyclone Committee. (2016). Tropical Cyclone Operational Plan for the South-West Indian Ocean: 2016 (Report No. TCP-12). World Meteorological Organization. pp. 13–14. https://www.bbc.com/thai/thailand-44884263 Retrieved on August 13th, 2019

Cr…โดย : สุภาวดี สาระวัน

ที่มา https://www.facebook.com/Samnaknganprachasamphan