สสส.ผลิต 5 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ลงนามความร่วมมือขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น 41 แห่ง ลดวิกฤตฝุ่นควันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน ในจังหวัดเชียงราย
เมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 11.00 น. ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย สมาคมยักษ์ขาว และสมาคมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล "ห้องเรียนสู้ฝุ่นในบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม จังหวัดเชียงราย" พร้อมมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่โรงเรียนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรง ในจังหวัดเชียงราย เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปประธรรม ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือและเปลี่ยนแปลงค่านิยมในชุมชน
ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสธร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายในปี 2562 เป็นจังหวัดที่พบจุดความร้อนและพื้นที่การเผาไหม้น้อยที่สุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของค่าฝุ่นในพื้นที่ แต่ด้วยทิศทางลมที่พัดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่โล่งของประเทศข้างเคียง เช่น เมียนมา และลาว เข้ามา พร้อมกับสภาพอากาศที่นิ่งและความกดอากาศสูงทำให้เกิดการฝังตัวของฝุ่น PM 2.5 ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของจังหวัดเชียงราย เพราะมีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาการระคายเคืองตาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนในพื้นที่
แต่ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายจึงได้ร่วมกับ สสส.ดำเนินโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 มีโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเข้าร่วม 10 โรง "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" ถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ที่ทำให้เด็กและคนในชุมชนรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่ง และทางเชียงรายมุ่งสร้าง "พลเมืองใหม่" ที่สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชน ถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM 2.5 จนเกิดการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผานา-ไร่ในพื้นที่ได้
นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอด และขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น ในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในสังกัด อบจ. เชียงราย ทั้งหมด 41 โรง รวมทั้งจังหวัดเชียงรายมี 51 โรง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน และมลพิษข้ามแดน" โดยการเสริมสร้างทรัพยากรด้านความรู้ พัฒนากลไกการมีส่วนร่วม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้มีศักยภาพในการสร้างกิจกรรมเสริมหลักสูตรการเรียนรู้ในโรงเรียน รวมถึง พัฒนาเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้สามารถรู้เท่าทันภัยจากฝุ่น PM2.5 และสื่อสารส่งต่อองค์ความรู้สู้ภัยฝุ่น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาวะเด็ก และประชากรในจังหวัดเชียงรายได้
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สสส. จึงร่วมสานพลังกับภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบาย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหามุ่งเน้นสร้างความตระหนัก และให้ความรู้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านการเรียนการสอนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นที่ผ่านมา ทั้ง สสส. และภาคีเครือข่ายนำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้ในจังหวัดแพร่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนจำนวน 30 โรง และเตรียมขยายผลไปยังโรงเรียนจังหวัดอื่น ๆ ของภาคเหนือ เพื่อให้เด็กมีค่านิยมและจิตสำนึกไม่เผานาเผาไร่ จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้กับผู้ปกครองครอบครัวและชุมชน เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้กลุ่มผู้นำชุมชน รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ความสำคัญขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเอื้อต่อการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืนไปพร้อมกันอีกด้วย
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย