วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

หนาวนี้ ไปชมงานศิลป์ที่เชียงราย ในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

06 ธ.ค. 2023
1016
หนาวนี้ ไปชมงานศิลป์ที่เชียงราย ในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 กำหนดการจัดระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 ณ จังหวัดเชียงราย ความยิ่งใหญ่ของการจัดงานปีนี้ เพราะมี มีศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศกว่า 60 ท่าน เข้ามามีส่วนร่วมรังสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทั้งในอำเภอเมืองและอำเภออื่นๆ ตลอดเทศกาล 

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อ 25 มีนาคม 2566 ต้นปีที่ผ่านมา ณ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักอบอุ่นที่บรรดาศิลปินไทยน้อยใหญ่หลายแขนงมาร่วมในงาน  โดยมีแนวคิด “The Open World” หรือ “เปิดโลก” พร้อมกับเปิดตัวศิลปิน 20 ท่าน ที่ตอบรับเข้าร่วม Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 

แนวคิดหลัก  The Open World หรือ เปิดโลก ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ คุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และคุณกฤติยา กาวีวงศ์ และภัณฑารักษ์ คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ และคุณมนุพร เหลืองอร่าม เล่าถึงแนวคิดดังกล่าวว่า ระหว่างลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล ณ วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน โบราณสถานสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของพหุวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรมในเอเชีย ได้พบ “พระพุทธรูปปางเปิดโลกฎ ที่มีพุทธลักษณะสำคัญคือประทับยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลกทั้ง 3 ได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ แสดงให้เห็นถึงปัญญาและการตื่นรู้ และอีกแง่มุมหนึ่งยังสื่อถึงการเปิดโลกการรับรู้ทางศิลปะที่เชื่อมโยงความจริงและนำไปสู่การตั้งคำถามด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัย ว่าเราจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่ดีกว่าอีกครั้งได้หรือไม่

หนาวนี้ ไปชมงานศิลป์ที่เชียงราย ในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

นายพุฒิพงศ์  ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในฐานะเจ้าบ้าน จังหวัดเชียงรายได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานครั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ ศิลปินเชียงราย ขัวศิลปะ องค์การบริหารส่วนตำบล หอการค้า ห้างร้าน มูลนิธิ สมาคมต่างๆ ทำให้ขณะนี้พร้อมต้อนรับคณะศิลปิน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาชมงานในทุกด้าน โดยมั่นใจว่าหากได้มาเยือนจะหลงรักเชียงราย เพราะนอกจากความสวยงามของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตก ป่าไม้ วัดวาอาราม แหล่งประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีชีวิต เชียงรายยังมีศักยภาพด้านทุนทางวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน งดงามด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และที่น่าภูมิใจยิ่ง คือเป็นถิ่นพำนักปราชญ์ของแผ่นดิน และศิลปินหลากสาขา เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มีศิลปินมาพำนักอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชียงรายได้รับการยอมรับในฐานะ “เมืองศิลปะ” เมืองศิลปิน ถิ่นทองของศิลปะร่วมสมัยอย่างแท้จริง

การจัดเบียนนาเล่ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเมืองเชียงรายให้มีสีสัน มีชีวิตชีวาไปด้วยผลงานศิลปะหลากหลายสาขา ซึ่งนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมให้กับจังหวัดแล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะความรักในงานศิลปะให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนและผู้คนในชุมชน ส่งเสริมพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะในระดับนานาชาติให้กับศิลปิน สนับสนุนให้เกิดการใช้มิติด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเมืองให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง

20 ศิลปินกลุ่มแรกของงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ประกอบด้วยศิลปินชาวไทยและต่างประเทศจากทั่วโลก ได้แก่ all(zone) กรุงเทพฯ, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เชียงใหม่, บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม ราชบุรี, บู้ซือ อาจอ เชียงราย, จิตรา ซาสมิตา (Citra Sasmita) บาหลี, เอิร์นเนสโต เนโต (Ernesto Neto) รีโอเดจาเนโร, แฮกู ยาง (Haegue Yang) โซล / เบอร์ลิน, โฮ ซู เงียน (Ho Tzu Nyen) สิงคโปร์,  กมลลักษณ์ สุขชัย กรุงเทพฯ, ไมเคิล ลิน (Michael Lin) ไทเป / เซี่ยงไฮ้ / บรัสเซลส์, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เชียงใหม่ / ฟูกูโอกะ, เหงียน ตรินห์ ตี (Nguyen Trinh Thi) ฮานอย, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ กรุงเทพฯ, รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ / กลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา เชียงใหม่, ริวสุเกะ คิโดะ (Ryusuke Kido) โตเกียว, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ กรุงเทพฯ, สว่างวงศ์ ยองห้วย (Sawangwongse Yawnghwe) อัมสเตอร์ดัม, โซ ยู นวย (Soe Yu Nwe) ย่างกุ้ง, ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ เชียงราย และ โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger) แฟรงก์เฟิร์ต

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นับจากห้วงเวลานี้เป็นต้นไปคือการเริ่มต้นนับถอยหลังเข้าสู่การจัดงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023  จึงขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ ‘เปิดโลก’ แห่งการรับรู้ทางศิลปะ เปิดประเทศ และเปิดเมืองเชียงราย เชื่อมโยงศิลปะสู่วิถีชีวิต ร่วมกันบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการขับเคลื่อนมิติทางด้านศิลปวัฒนธรรม ต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีไปพร้อมๆ กับพี่น้องชาวเชียงราย 

เตรียมพบกับ ‘The Open World’ หรือ ‘เปิดโลก’ ได้ในระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 ณ จังหวัดเชียงราย สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandbiennale.org เพจ www.facebook.com/thailandbiennale และสายด่วนวัฒนธรรม 1765

รวมกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นรอบเมืองเชียงราย ในช่วงการจัดงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

หนาวนี้ ไปชมงานศิลป์ที่เชียงราย ในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

แนะนำศิลปิน 20

ขอแนะนำศิลปิน 20 รายชื่อแรกที่ตอบรับเข้าร่วม Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

รชพร ชูช่วย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม all(zone) กลุ่มนักออกแบบมืออาชีพที่มีความสุขกับการได้ร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญโดยไม่จำกัดพรมแดนหรือสัญชาติ ผลงานชิ้นสำคัญของ all(zone) คือการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมที่เชียงใหม่ 

จิระเดช มีมาลัย, พรพิลัย มีมาลัย และกฤตพร มหาวีระรัตน์ ตัวแทนจากกลุ่มบ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม องค์กรไม่แสวงผลกำไรขับเคลื่อนและริเริ่มโดยศิลปิน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักวิจัยกับชุมชน และสนับสนุนให้เกิดชุมชนศิลปะภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น

บู๊ซือ อาจอ จิตรกรที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดในพื้นที่ภูเขาอันห่างไกลของเมียนมาร์ เธอและครอบครัวถูกบังคับให้ต้องหลบหนีตั้งแต่ยังเด็กจากการรุกรานของทหาร เธอสร้างสรรค์ผลงานที่ดึงเอาประสบการณ์จากชีวิตประจำวันในฐานะผู้หญิงในโลกร่วมสมัย รวมถึงรากเหง้าในฐานะสมาชิกชนเผ่าอาข่า 

เอิร์นเนสโต เนโต (Ernesto Neto) ศิลปินชาวบราซิลจากเมืองรีโอเดจาเนโร เขาผลิตผลงานที่มีอิทธิพลจากการสำรวจ การสร้างพื้นที่ทางสังคมและโลกธรรมชาติ โดยเชิญชวนให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสร่วมกับผลงาน

แฮกู ยาง (Haegue Yang) ศิลปินชาวเกาหลี ปัจจุบันพำนักและทำงานในเบอร์ลิน เธอมักนำวัตถุที่หาได้ทั่วไปและวัสดุเหลือใช้ในบ้าน มาทำการแยกวัสดุเหล่านั้นออกจากบริบทดั้งเดิมและจัดเรียงใหม่เป็นองค์ประกอบเชิงนามธรรมที่สร้างจากคำศัพท์และภาษาภาพที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นส่วนตัว

กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินภาพถ่ายที่มักจะสร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยการสํารวจคติชนวิทยาในพื้นที่อุษาคเนย์ที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา และมายาคติทางเพศ ผ่านโครงสร้างของเรื่องเล่า เช่น นิทาน ตํานาน พงศาวดาร และมุขปาฐะ

รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ และดาราวรรณ มาฉันท์ จากกลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา กลุ่มศิลปินและสถาปนิกชาวล้านนาที่ทำการสำรวจบ้านเก่าของคนไตเขิน ไตลื้อ ยอง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงทำการสืบค้น วิจัย และสัมภาษณ์เจ้าของบ้านไม้พื้นเมืองที่เริ่มสูญหายไปในช่วงโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็ซ่อมแซมบ้านที่เริ่มเสียหายไปตามกาลเวลา

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ผู้ก่อตั้ง Sanitas Studio ผลงานเธอมีทั้งประติมากรรม งานศิลปะแบบจัดวาง และงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม

โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger) ศิลปินชาวเยอรมัน ศาสตราจารย์ด้านวิจิตรศิลป์ที่ Frankfurt Städelschule ปัจจุบันพำนักและทำงานในแฟรงก์เฟิร์ต เขาประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์งานเชิงสุนทรียะแบบข้ามแขนงอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งครอบคลุมทั้งภาพ วัตถุ งานจัดวาง และการทำงานร่วมกัน

นอกจาก 9 ศิลปินทั้งเดี่ยวและตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมงานแถลงงานข่าวแล้ว ศิลปินชาวไทยและต่างประเทศคนอื่นๆ ก็มีประวัติส่วนตัวและผลงานน่าสนใจไม่แพ้กัน ขอเชิญมาทำความรู้จักกับพวกเขาทั้ง 20 ศิลปินกันได้เลย