วันอาทิตย์, 27 เมษายน 2568

ผักป้อก้าตี๋เมีย (ผักก้อแก้) ทางภาคเหนือ นิยมนำมาแกงพร้อมกับดอกลิงแลว

“ผักป้อก้าตี๋เมีย” ทางภาคเหนือ นิยมนำมาแกง พร้อมกับดอกลิงแลว การตำเครื่องแกงคล้ายกับการแกงขนุน แกงพื้นเมืองทั่วไป นิยมแกงใส่ปลาแห้ง (ปลาช่อน) เพิ่มผักชะอม และถั่วฝักยาวได้ตามชอบ

แต่ทำไมถึงต้องตีเมีย มีเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่บอกต่อกันมา ว่า “มีพ่อค้า (คำเมืองเรียกว่า “ป้อก้า”) คนหนึ่งหลังจากออกไปค้าขายกลับมาที่บ้าน หิวหาอาหารในครัวไม่มีอาหารอะไรเลย ภรรยาจึงไปเก็บผักนี้มาต้มแกงให้กิน เมื่อแกงเสร็จแล้วภรรยาก็เอามาให้กิน พ่อค้าก็โกรธด่าว่า “ผักยังไม่สุก ก้านก็แข็ง เอามาให้กินทำไม” ว่าจบก็เอาไม้ไล่ตีเมียด้วยความโกรธและความหิว จึงเป็นที่มาของชื่อ ผักพ่อค้าตีเมียนั่นเอง

ซึ่งถ้าใครเคยกินแล้วจะรู้ว่า ลักษณะเด่นของผักพ่อค้าตีเมียก็คือ เมื่อแกงสุกแล้ว ยอดจะนุ่ม ในขณะที่ก้านยังกรอบ เป็นคุณสมบัติพิเศษของก้านผักพ่อค้าตีเมียจะแกงนานเท่าไหร่ก้านก็จะแข็งและกรอบแบบนี้ จึงเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมา ว่าทำไมถึงต้องเรียกว่า “ผักป้อก้าตี๋เมีย”