“ภูชี้ฟ้า” เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่น อยู่ติดพรมแดนไทย-ลาว ตั้งอยู่ที่บ้านร่มฟ้าไทย หมู่ 24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ในอดีตเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) แต่เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายไป จึงมีการค้นพบผาหินนี้ และได้รับการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมทะเลหมอก
ต่อมามีคนต่างถิ่นมาตั้งชื่อเรียกผาหินตรงนี้ว่า “ภูชี้ฟ้า” ซึ่งผิดวิสัยของชาวเหนือที่จะเรียกภูเขาว่า “ดอย” แต่ก็เป็นชื่อที่ติดหูอยู่ทุกวันนี้ ภูชี้ฟ้าได้รับการยกฐานะเป็น วนอุทยานภูชี้ฟ้า เมื่อปี 2541 และเตรียมจะยกฐานะเป็น “อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า” ท่ามกลางความเห็นแย้งจากชาวบ้าน
นายชัยยุทธ อนุสรณ์ศิลปะ ประธานเครือข่ายรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม ดอยยาว-ดอยผาหม่น-ภูชี้ฟ้า แกนนำฝ่ายคัดค้านการยกฐานะฯ ให้เหตุผลว่า อุทยานฯ ไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม และไม่รู้แนวเขตที่แน่ชัด จึงมีความวิตกกังวลว่าจะไปทับซ้อนที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตลอดจนการขอพื้นที่ป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 จึงอยากให้ภาครัฐชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจก่อนยกฐานะ
ด้าน นายสนิท หอมนาน หน.อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า (เตรียมการ) กล่าวว่า การยกฐานะวนอุทยานขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ ผ่านการทำประชาคมและเดินสำรวจมาแล้ว จากพื้นที่ 2 แสนกว่าไร่ ได้ผ่านการพิจารณาตัดพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และป่าชุมชนออกไป จนเหลือพื้นที่ที่เขตอุทยานเพียง 58,069.24 ไร่ ที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ
ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอใน จ.เชียงราย คือ อ.เทิง อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล และ อ.เชียงของ มีแผนที่แสดงอาณาเขตชัดเจน หากชาวบ้านไม่บุกรุกเพิ่มก็ไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องการหาของป่า เช่น เห็ด หรือหน่อไม้ ปัจจุบันกฎหมาย เปิดช่องให้สามารถทำได้ เพราะถือเป็นพืชที่ขึ้นทดแทนได้ ไม่ได้เข้มงวดเหมือนในอดีต
การยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติถือเป็นเรื่องดีที่จะมีงบฯ มาพัฒนาท้องถิ่น รักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอหากทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน…
แหล่งข่าว www.thairath.co.th