วันพุธ, 19 มีนาคม 2568

ผู้ว่าเชียงรายสั่งผู้นำชุมชนเข็มงวดบุคคลแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ และให้ จนน.ติดตามขบวนการลักลอบข้ามแดนด่วน

จังหวัดเชียงรายยืนยันมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 2 ราย หลังลักลอบเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติเข้าไทยโดยผิดกฎหมายที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่อำเภอแม่สาย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานแถลงติดตามสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ถนนแม่ฟ้าหลวง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย พร้อมด้วย นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายแพทย์ ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายแพทย์ ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตลอดทั้ง ผู้แทน กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าวติดตามสถานการณ์และความคืบหน้า ในกรณีพบผู้ป่วยโควิด – 19 จำนวน 2 ราย เป็นหญิงสาวอายุ 29 ปี ชาวอำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เป็นรายที่ 10 และ อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดพะเยา รายที่ 11 ที่ได้เดินทางข้ามพรมแดน มาพร้อมกับหญิงสาวที่ติดเชื้อที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยผลการตรวจพบว่าทั้ง 2 คนมีผลตรวจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นบวก อาการได้เริ่มป่วยตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 มีอาการไข้ และไอ ตรวจพบเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 ราย โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ทำงานในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ต่อมา เริ่มมีอาการไข้ต่ำและทราบว่าเพื่อนร่วมงานที่สถานบันเทิงมีผลตรวจพบเชื้อโควิด-19

ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ช่วงเช้าได้เดินทางกลับประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติพร้อมกับเพื่อนชาวไทยอีก 1 คน โดยมีผู้นำทางเป็นชาวเมียนมา ซึ่งได้กลับประเทศไปแล้ว หลังจากนั้นเดินทางจากหมู่บ้านต้นทาง ถึงแม่สายโดยรถจักรยานยนต์รับจ้าง แล้วแวะซื้ออาหารที่ร้านอาหารและซื้อน้ำที่ร้านน้ำหน้าวัดแห่งหนึ่งและเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สาย โดยได้ทีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และได้เข้าห้องพักโรงแรมดังกล่าวแยกห้องพักกับเพื่อน พอกลางคืนไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งโดยรถจักรยานยนต์ของพนักงานโรงแรม

ต่อมา เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 15.00 น.โดยนั่งรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 2 คัน จากที่พักในอำเภอแม่สาย ไปอำเภอเมืองโดยระหว่างทางแวะซื้อของที่ร้านโทรศัพท์ตรงข้ามโรงแรมที่พัก เวลา 17.00 น. เข้ารับการตรวจหาเชื่อที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แล้วขอมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เมื่อเวลา 21.30 น. ได้ถูกส่งเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรคระบบทางเดินหายใจ หลังจากนั้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2563 เมื่อเวลา 20.00 น. ปรากฎผลตรวจพบเชื้อ โควิด-19 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และยืนยันผลตรวจแน่นอนแล้ว ในส่วนรายที่ 11 ของจังหวัดเชียงราย ได้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 สืบสวนโรคทราบว่า เดินทางกลับจากไปทำงานที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ไม่มีอาการป่วย

แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ช่วงเช้า ได้เดินทางกลับประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ พร้อมกับเพื่อนชาวไทย 1 คน โดยมีผู้นำทางเป็นชาวเมียนมา และเดินทางจากหมู่บ้านต้นทางถึงอำเภอแม่สายโดยรถจักรยานยนต์รับจ้าง แล้วแวะซื้ออาหารที่ร้านอาหาร และซื้อน้ำที่ร้านน้ำหน้าวัดแห่งหนึ่ง แล้วเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สาย ได้สวมหน้ากากไวตลอด กลางคืนไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งโดยรถจักรยานยนต์ของพนักงานโรงแรม และ

เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ได้พักอยู่ที่โรงแรมดังกล่าว และไม่ออกไปไหน โดยสั่งอาหารทางออนไลน์ และต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2563 เริ่มมีอาการปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีน้ำมูก เมื่อได้ทราบผลการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ของผู้ร่วมเดินทางเป็นบวก จึงแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลแม่สาย ได้ไปรับตัวจากโรงแรมที่พัก นำส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อนำเข้าห้องแยกโรค เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด – 19

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ผลตรวจเชื้อ SARS-Cov-2 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และส่งตัวอย่างตรวจยืนยันไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง กล่าวว่า ในกรณีผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทั้งหญิงสาวที่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ และหญิงสาวทั้ง 2 คนที่ตรวจพบเชื้อในจังหวัดเชียงราย มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาก 21 ราย ซึ่งติดตามได้แล้วทั้งหมด และอยู่ในระหว่างการตรวจหาเชื้อไวรัส นอกจากนี้ยังสืบหาพบว่า หญิงสาวทั้ง 2 คนที่พบเชื้อในจังหวัดเชียงรายได้สั่งอาหารจากฟู๊ดเดลิเวอรี่ จึงจะต้องติดตามพนักงานส่งอาหารมาตรวจหาโรคด้วย ซึ่งคาดว่าจะต้องติดตามตัวอีกรวมกันกับกลุ่มแรกแล้วประมาณ 30 คน ซึ่งในกลุ่มเคสนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะว่าไม่ได้เดินทางไปในแหล่งชุมชนที่ใด ซึ่งต่างจากกรณีในจังหวัดเชียงใหม่ที่เดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานบันเทิงหลายแห่ง นายประจญ ปรัชญ์สกุล กล่าวว่า กรณีที่มีการลักลอบเดินทางเข้ามาตามแนวชายแดนนั้น ส่วนใหญ่พบว่าเป็นคนไทยที่ได้ข้ามไปทำงานตามสถานบันเทิงในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อสถานบันเทิงปิดตัวลง ทำให้ไม่มีงานทำ ประกอบกับกลัวว่าจะติดเชื้อ จึงได้พยามลักลอบกลับเข้ามายังประเทศไทย แต่เนื่องจากเดินทางออกไปยังประเทศเมียนมาโดยผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถกลับมาตามช่องทางปกติได้ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศเมียนมามีโทษถึงจำคุก ส่งผลทำให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวต้องหลบหนีกลับประเทศไทยตามเส้นทางธรรมชาติ หรือติดต่อกับนายหน้าเพื่อพาข้ามพรมแดน ซึ่งในเบื้องต้นทางฝ่ายไทยได้มีการติดต่อประสานงานกับทางการของประเทศเมียนมา ผ่านศูนย์ประสานงานชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา เพื่อหาทางให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวกลับเข้ามาตามช่องทางที่ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าสู่ระบบคัดกรองโรคตามขั้นตอนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม

ในส่วนมาตรการของจังหวัดเชียงราย ได้เพิ่มความเข้มงวด และจะได้สั่งการให้นายอำเภอแต่ละอำเภอแจ้งให้ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบบุคคลแปลกหน้า และประชาสัมพันธ์ให้บุคคลที่เดินทางกลับมาจากประเทศเมียนมา โดยไม่ผ่านการคัดกรอง ให้มารายงานตัวเพื่อจะได้เข้าสู่ระบบการตรวจหาเชื้อและคัดกรองโรค เพื่อความปลอดภัยของชุมชน หากปกปิดหรือหลบซ่อนอาจจะเป็นอันตรายต่อครอบคัวของตนเอง และชุมชนได้

ในส่วนของขบวนการลักลอบข้ามแดนนั้น ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สอดส่องติดตามขบวนการลักลอบข้ามแดน โดยพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อผ่านชาวเมียนมาที่หลบซ่อนอยู่ในฝั่งประเทศไทย เพื่อนัดจุดที่จะนำผู้หลบหนีมาส่งให้ และพาไปยังจุดต่าง ๆ โดยจะมีการนัดแนะเป็นรายครั้งไป ไม่มีพฤติการณ์ที่ทำเป็นขบวนการ โดยที่ผ่านมาพบว่ามีการโพสในโซเชียลว่า “สามารถนำพาข้ามพรมแดนได้ ครั้งละ 3,000 -5,000 บาท” นั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและโทรไปตามหมายเลขดังกล่าวแล้วแต่ไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตามพฤติกรรมของกลุ่มคนดังกล่าวอยู่ และมีข้อมูลบ้างแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการติดตามจับกุมตามกฎหมายต่อไป

ด้าน นายแพทย์ ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายศูนย์ประชานุเคราะห์ กล่าวว่า ได้มีการซ้อมแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 หลายครั้งตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ทำให้มีความพร้อมในการรับมือกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส จึงไม่มีความกังวลหากมีผู้ป่วยเข้ามารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมั่นใจว่าจะดูแลการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย