วันศุกร์, 21 มีนาคม 2568

ลูกหนี้รีบเช็คด่วน มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

“ธนาคารแห่งประเทศไทย” จับมือสถาบันการเงิน 22 แห่ง เปิด”มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” ใครรู้ตัวว่าเป็นหนี้ ไปต่อไม่ไหว เช็กเงื่อนไขการเข้าร่วม รายละเอียดต่างๆได้ที่นี่

ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จำนวน 22 แห่ง  และ  สำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน” 


สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าว ก็เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบครบวงจร โดยประชาชนที่มีหนี้บัตรในรูปแบบต่างๆสามารถตรวจสอบเงื่อนไขในการขอรับการช่วยเหลือได้ 

ส่วนเงื่อนไขหรือรูปแบบหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แบ่งหมวดหมู่เอาไว้ มีด้วยกัน 3 กลุ่มดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาและเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว 

-ในกลุ่มนี้มีข้อเสนอให้ชำระเฉพาะเงินต้น ไม่มีดอกเบี้ย 

-มีการวางกรอบการชำระหนี้ไว้ 3 ระยะ คือภายใน 3 เดือน ภายใน 3 ปี และภายใน 5 ปี หากชำระได้ตามแผนก็จะยกดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ 

กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ NPLอยู่ในกระบวนการฟ้อง(ตั้งแต่ก่อนฟ้องหรืออยู่ระหว่างฟ้อง) 


-เมื่อสมัครเข้าร่วมมหกรรมฯ จะมีการรับเรื่องเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ของศาล 


-ในกลุ่มนี้มีข้อเสนอผ่อนชำระ ระยะยาว เช่น ภายใน 10 ปี เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ค้างชำระเกิน 3 เดือ


-รับข้อเสนอช่วยแปรสภาพหนี้เป็นระยะยาว มีระยะเวลาผ่อน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยจาก 16% เหลือ 12% ไม่เสียประวัติเครดิตบูโร

เมื่อสำรวจตรวจสอบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มไหนแล้ว สามารถลงทะเบียนระหว่างวันวาเลนไทน์ วันที่ 14 ก.พ. – วันสงกรานต์ วันที่ 14 เม.ย. 64 ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่

สำนักงานศาลยุติธรรม 


กรมบังคับคดี 


ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในกรณีที่ประชาชนไม่ถนัดช่องทางออนไลน์ สามารถติดต่อได้ที่


-ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)  โทร 1213 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.จะมีเจ้าหน้าที่ของ ธปท.ช่วยบริการกรอกข้อมูลให้
-ถ้าเป็นช่วงนอกเวลาทำการ สามารถส่งอีเมล์มาที่ [email protected] ฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป

หลังจากลงทะเบียนแล้วเสร็จ จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปภายใน 1 สัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1213 หรือธนาคารแห่งประเทศไทย 

ที่มา https://www.thansettakij.com