วันอังคาร, 18 มีนาคม 2568

กรมทางหลวงเริ่มโครงการทางเลข 118 ปากทางแม่สรวย โป่งปูเฟือง เสร็จ2569

กรมทางหลวงเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 118

ตอน อ.แม่สรวย-แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 จ.เชียงราย มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.141+000 (ช่วงทางตรงก่อนถึงป่าช้าบ้านโป่งปูเพือง) ท้องที่ตำบลแม่สรวย และสิ้นสุดที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 (ทางแยกเข้าอ.แม่สรวย) ท้องที่ตำบลดงมะดะ ระยะทางประมาณ 17.473 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ 3 ตำบล ได้แก่ ต.แม่สรวย ต.ดงมะดะ ต.จอมหมอกแก้ว

แบ่งเป็น 3 ตอน 3 โครงการ ได้ผู้รับจ้างครบทั้ง 3 โครงการ

เริ่มดำเนินงานตั้งแต่บัดนี้ และจะแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างในปี 2569

กรมทางหลวงเริ่มโครงการทางเลข 118 ปากทางแม่สรวย โป่งปูเฟือง เสร็จ2569
กรมทางหลวงเริ่มโครงการทางเลข 118 ปากทางแม่สรวย โป่งปูเฟือง เสร็จ2569
กรมทางหลวงเริ่มโครงการทางเลข 118 ปากทางแม่สรวย โป่งปูเฟือง เสร็จ2569
กรมทางหลวงเริ่มโครงการทางเลข 118 ปากทางแม่สรวย โป่งปูเฟือง เสร็จ2569
กรมทางหลวงเริ่มโครงการทางเลข 118 ปากทางแม่สรวย โป่งปูเฟือง เสร็จ2569

กรมทางหลวงเดินหน้าขยายสาย 118 เชียงใหม่-เชียงราย เป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย ยกระดับโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวภาคเหนือเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน

ลงวันที่ 30/07/2564

ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนนให้กรมทางหลวงขยายทางหลวงหมายเลข 118 เชียงใหม่-เชียงรายเป็นถนนมาตรฐานขนาด 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง 158.473 กิโลเมตร เพื่อเสริมสร้างโครงข่ายทางหลวงพื้นที่ภาคเหนือให้สมบูรณ์ โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงขยายทางหลวงสายดังกล่าวแล้วเสร็จ 48 กิโลเมตร และได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอีกระยะทาง 42.8 กิโลเมตร ช่วง อ.ดอยสะเก็ด-ต.แม่ขะจาน ระหว่าง กม.20+200 – กม.63+000 ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง ตอน อ.ดอยสะเก็ด-ต.ป่าเมี่ยง ตอน 1 ระหว่าง กม.20+200 – กม.31+700 ระยะทาง 11.5 กม. ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 93 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน ปี 2564 จะรวมเป็นระยะทาง 91 กิโลเมตร ทั้งนี้มีบางช่วงที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทางไปแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงผลักดันให้เร่งขยายเส้นทางเป็น 4 ช่องจราจรในส่วนที่เหลืออีก 67.473กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายโดยในพื้นที่ ต.บ้านโป่ง-บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ระหว่าง กม.91+000 – กม.158+473 ปัจจุบันมีขนาด 2 ช่องจราจร เนื่องจากสภาพเส้นทางมีลักษณะคดเคี้ยว เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จำเป็นต้องปรับปรุงให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทางเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง ยกระดับความปลอดภัยด้านคมนาคมขนส่ง และรองรับปริมาณการจราจรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะภาคการขนส่งและการท่องเที่ยว

กรมทางหลวง ได้ขานรับนโยบายดังกล่าวเร่งดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงหมายเลข 118 (สายเชียงใหม่-เชียงราย) โดยแบ่งเป็น 2 ตอน คือ
??ตอน บ.แม่เจดีย์ – อ.แม่สรวย ระยะทาง 50 กิโลเมตร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำรายงาน EIA เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเมื่อหากผ่านการพิจารณาแล้วโครงการจะมีความพร้อมเพื่อเสนอของบประมาณดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ประมาณ ปี พ.ศ.2567 แล้วเสร็จปี พ.ศ.2569

??และ ตอน อ.แม่สรวย – แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 จ.เชียงราย ระยะทาง 17.473 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินกู้ (เพิ่มเติม) โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และหากได้รับงบประมาณจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป โดยใช้งบประมาณโครงการ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ประมาณปี พ.ศ. 2565 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2567

สำหรับโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงหมายเลข 118 ตอน อ.แม่สรวย-แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 จ.เชียงราย มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.141+000 ท้องที่ตำบลแม่สรวย และสิ้นสุดที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธินบริเวณ กม.910+123) ที่ กม. 158+473 ท้องที่ตำบลดงมะดะ ระยะทางประมาณ 17.473 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ 3 ตำบล ได้แก่ ต.แม่สรวย ต.ดงมะดะ ต.จอมหมอกแก้ว
โดยรูปแบบการก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยแบริเออร์คอนกรีตกว้าง 1.60 เมตร ซึ่งรูปแบบทางแยกมี 4 จุดตัด ดังนี้

•1) จุดตัดทางหลวงชนบทหมายเลข ชร.2113 (กม.146+994) ออกแบบเส้นทางสายหลักทางหลวงหมายเลข 118 เป็นสะพานยกระดับ ลดการตัดกระแสของการจราจรบริเวณทางแยกและมีการจัดการทางแยกระดับพื้นดินในลักษณะวงเวียน ออกแบบทางขนานเพื่อแยกการจราจรระหว่างการเดินทางในพื้นที่กับถนนสายหลัก และกำหนดจุดกลับรถใต้สะพานสำหรับความสูงไม่เกิน 5.50 เมตร

•2) จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1211 (กม.154+647) ออกแบบเส้นทางสายหลักทางหลวงหมายเลข 118 เป็นสะพานยกระดับ ลดการตัดกระแสของจราจรบริเวณทางแยกและมีการจัดการทางแยกระดับพื้นดินในลักษณะวงเวียน ออกแบบทางขนานเพื่อแยกการจราจรระหว่างการเดินทางในพื้นที่กับถนนสายหลัก และกำหนดจุดกลับรถใต้สะพานสำหรับความสูงไม่เกิน 5.50 เมตร

•3) จุดตัดถนนเลียบคลองชลประทาน (กม.156+500) โดยรื้อสะพานข้ามคลองชลประทาน บนเส้นทางสายหลักทางหลวงหมายเลข 118 ในปัจจุบันออก เพื่อออกแบบเป็นสะพานยกระดับข้ามคลองชลประทาน โดยออกแบบทางขนานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ และแยกกระแสจราจรของรถที่ใช้ความเร็วออกจากกันเพื่อความปลอดภัยบริเวณใต้สะพานออกแบบจัดการจราจรเป็นระบบวงเวียนของถนนเลียบคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง และกำหนดจุดกลับรถใต้สะพานสำหรับความสูงไม่เกิน 4.50 เมตร

•4) จุดตัดถนนทางหลวงหมายเลข 1 ที่ กม.158+473 แนวเส้นทางตัดกับทางหลวงหมายเลข 1 ที่ กม.910+123 และเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ สภาพพื้นที่ในปัจจุบันเป็น 3 แยกสัญญาณไฟแบบ channelize แต่เนื่องจากเป็นทางแยกหลักที่เชื่อมโยงระหว่าง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดพะเยา ซึ่งปริมาณจราจรที่ผ่านจุดตัดนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาออกแบบปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทางแยกให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยทำการออกแบบทางยกระดับข้ามทางแยก 1 ทิศทาง บนทางหลวงหมายเลข 1 ฝั่งมุ่งหน้าจากจังหวัดพะเยาไปตัวเมืองจังหวัดเชียงราย พร้อมทางขนานทางยกระดับ โดยทิศทางมุ่งหน้าจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายไปจังหวัดพะเยา จะทำการขยายถนนระดับพื้นดิน จากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร โดยออกแบบเกาะกลางรูปปีกนกสำหรับแบ่งรถในทิศทางตรงให้สามารถผ่านทางแยกได้คล่องตัว ไม่ต้องติดสัญญาณไฟจราจร ส่วนทิศทางเลี้ยวขวาเข้า – ออก จากทางหลวงหมายเลข 118 จะถูกควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร ทำให้ลดการตัดกระแสจราจรบริเวณทางแยกและทำให้การจราจรบนทางหลวงหมายเลข 1 เกิดความคล่องตัว

ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทางหลวงหมายเลข 118 ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ช่วยลดอุบัติเหตุ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่มากขึ้นจากเดิม 1 – 1.8 หมื่นคันต่อวัน เป็น 3 หมื่นคันต่อวัน ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ลดลงเหลือ 3 ชั่วโมง ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนให้สะดวกรวดเร็ว ช่วยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย และเกิดโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคเหนือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา http://www.doh.go.th/content/page/news/150977