วัคซีน กระจายสูตรฉีดวัคซีน 10 ล้านโดส 3 กลุ่มจังหวัด สิงหาคม นี้
เสนอแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด-สูตรฉีดวัคซีน 10 ล้านโดส ทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค เดือนสิงหาคม 2564 ใน 3 กลุ่มจังหวัด
วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมี พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม
ในวาระที่ 6 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของการประชุม เป็นเรื่องข้อเสนอแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด19 เดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งแพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้แทนกรมควบคุมโรค เสนอแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด19 เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส ในเดือนสิงหาคม 2564 และพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เป็นเป้าหมายหลัก เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งเป็นแบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่
- จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 13 จังหวัด
- จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด และแผนเปิดการท่องเที่ยวระยะถัดไป ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว บุรีรัมย์ ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงันเกาะเต่า) ตรัง พังงา และกระบี่ รวม 15 จังหวัด
- จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย รวม 49 จังหวัด
(ร่าง) เกณฑ์การจัดสรรควัคซีนโควิด19 เดือนสิงหาคม มีดังนี้
1.จำนวนประชากรที่นำมาคำนวณมาจากฐานข้อมูลประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝง
1.1 จำนวนประชากรจากทะเบียนบ้าน ใช้ฐานข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2564
1.2 จำนวนประชากรแฝง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562
2.มีเป้าหมายฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝงทุกกลุ่มอายุในแต่ละจังหวัด ทั้งผู้มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ภายในปี 2564
3.ประเภทการจัดสรรเป็นไปตามมติ ศบค. วันที่ 19 มิถุนายน 2564 แบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ตามที่เสนอ โดยเกณฑ์การจัดสรรจะพิจารณาจากปัจจัย ดังนี้
3.1 ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
3.2 การให้วัคซีนเพื่อป้องกันเชิงรุก ในพื้นที่ระบาดใหม่
3.3 โควตาประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน (กทม. และ 12 จังหวัด)
3.4 จำนวนประชากรแต่ละจังหวัด
4.เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
4.1 จัดลำดับความสำคัญ เร่งฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และเพิ่มกลุ่ม อสม (บุคลากรด่านหน้า)
4.2 เป้าหมายการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุในเดือนสิงหาคม ให้มีความครอบคลุม ดังนี้
– จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับความควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (13 จังหวัด)
– กรุงเทพมหานคร เป้าหมายร้อยละ 80
– จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอื่น 12 จังหวัด เป้าหมายร้อยละ 70
– จังหวัดอื่น ๆ 64 จังหวัด เป้าหมายร้อยละ 50
5.กรณีจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า 10 ล้านโดส จำนวนที่จัดสรรจะลดลงตามสัดส่วนวัคซีนที่จัดหาได้
(ร่าง) เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนโควิด19 เดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 10 ล้านโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 6 ล้านโดส และซิโนแวค 4 ล้านโดส) ได้แบ่งประเภทการจัดสรรของแต่ละจังหวัด (ปรับสัดส่วนตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับมอบ) ดังนี้
1.จัดหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จำนวน 13 จังหวด (ตามความรุนแรงการระบาด)
- กทม. คิดเป็นร้อยละ 10 (จำนวน 1 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ
- นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 20 (จำนวน 2 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด AZ-AZ
2.จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ มีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด และแผนเปิดการท่องเที่ยวระยะถัดไป จำนวน 15 จังหวัด (ตามจำนวนประชากร) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว บุรีรัมย์ ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ตรัง พังงา และกระบี่ คิดเป็นร้อยละ 10 (จำนวน 1 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ
3.จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย จำนวน 49 จังหวัด (ตามจำนวนประชากร) คิดเป็นร้อยละ 42 (จำนวน 4.2 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ
4.สำนักงานประกันสังคม (กลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา คิดเป็นร้อยละ 8 (จำนวน 0.8 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ, AZ-AZ
5.อื่นๆ ได้แก่ องค์กรภาครัฐ ราชทัณฑ์ หน่วยฉีดส่วนกลาง สธ. และควบคุมการระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ตามสถานการณ์ คิดเป็นร้อยละ 5 (จำนวน 0.5 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ
6.สำรองแอสตร้าเซนเนก้าไว้ สำหรับเป็นเข็มที่สอง คิดเป็นร้อยละ 5 (จำนวน 0.5 ล้านโดส) สูตรที่ฉีด SV-AZ
ประเด็นเพื่อพิจารณา
- เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส ในเดือนสิงหาคม 2564 ตามเสนอ
ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เสนอว่า วัคซีน 1 ล้านโดสที่ให้กับ กทม. ขอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมด ซึ่งกรมควบคุมโรคจะนำเรียนผู้บริหารพิจารณา พร้อมกับขอให้สำนักอนามัย กทม. ตรวจสอบจำนวนประชากรเพื่อให้วัคซีนได้ตามเป้าหมาย 80%
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบกรมควบคุมโรค จัดทำแผนการจัดสรรควัคซีนโควิด19 เสนอนายกรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
ที่มา prachachat