วันอาทิตย์, 23 มีนาคม 2568

อาหารเหนือ อาหารที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมอาหารจากหลากหลายชนชาติ

19 ก.ย. 2021
1598
อาหารเหนือ

อาหารเหนือ อาหารที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมอาหารจากหลากหลายชนชาติ

 

 

อาหารเหนือ เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมอาหารจากหลากหลายชนชาติ เนื่องจากดินแดนในเขตภาคเหนือของไทย ติดต่อกับประเทศพม่า และจีน ประกอบกับมีชาวไทยภูเขาหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่บนดอยสูง มีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน รวมทั้งมีภูมิอากาศหนาวเย็นแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ของไทย ทำให้อาหารในภาคเหนือ มีลักษณะเฉพาะร่วมกัน เรียกว่า วัฒนธรรมอาหารล้านนา มีอาหารที่ใช้หมูและเส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นส่วนประกอบ มีอาหารที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากชาวพม่า เช่น แกงฮังเล และอาหารจากชาวไทยใหญ่ เช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยว เป็นต้น อาหารล้านนา มีอาหารจานหลัก คือ ข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียว) กินกับน้ำพริก ลาบ ยำ และผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดทำให้อาหารมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ทั้งด้านกลิ่น และรสชาติ

ภาคเหนือเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ชาวเหนือได้สรรสร้างศิลปวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนลึกซึ้งในทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่การบริโภคอาหาร อันเป็นเอกลักษณ์ที่สอดคล้องกับฤดูกาลของธรรมชาติประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่มีเทือกเขาน้อยใหญ่ และมีแหล่งต้นน้ำหลายสาย ทำให้อากาศค่อนช้างหนาวเย็นในฤดูหนาวฤดูฝนมีความเขียวชอุ่มไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ภาคเหนือประกอบด้วย 15 จังหวัด โดยแบ่งเป็น ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และภาคเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด ซึ่งลักษณะอาหารพื้นบ้านภาคเหนือนั้น จะเห็นว่าภาคเหนือตอนบนนิยมรับประทานข้าวเหนียว ภาคเหนือตอนล่างรับประทานข้าวเจ้าคล้ายภาคกลางตอนบนโดยแหล่งอาหารในอดีตได้มาจากธรรมชาติอัน อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันได้จากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ร่วมด้วย การปรุงอาหารของคนไทย ภาคเหนือส่วนใหญ่จะมีรสอ่อน หรือรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว แต่ไม่หวานมาก อาหารภาคเหนือไม่นิยม ใส่น้ำตาล ความหวานจะได้จากส่วนผสมที่นำมาประกอบอาหาร เช่น ความหวานจากผัก ปลา มะเขือส้ม เป็นต้น คนภาคเหนือจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ส่วนกับข้าวก็จะหาจากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ไก่ หมู เนื้อ ปลา  และผักพื้นบ้านต่างๆ

การปรุงอาหารมีหลายวิธี เช่น การแกง การจอ การล้ำา การยำ การเจียว การปิ๊ป การขึ้น การคั่วหรือการผัด การหลู้ การต่ำ ซึ่งอาหารของภาคเหนือมักจะทำให้สุกมากๆ เช่น ผัดผักก็จะผัดจนผักนุ่ม หรือต้มผักจนนุ่ม อาหารส่วนใหญ่จะใช้ผัดกับน้ำมัน แม้แต่ตำขนุน (ยำขนุน) เมื่อตำเสร็จก็ต้องนำมาผัดอีกจึงจะรับประทาน แต่หลายคนคงไม่ปฏิเสธว่าในสำรับขันโตก ภาคเหนือเป็นตำรับอาหารที่มีเสน่ห์  มีเอกลักษณ์รสชาติ ซึ่งมีตำนานมาอย่างยาวนาน

ข้อมูล อาหารพื้นบ้านไทย กองการแพทย์ทางเลือก
เรียบเรียงโดย เชียงราย108