วันพุธ, 26 มีนาคม 2568

ประเภทอาหารเหนือ อาหารพื้นบ้านของภาคเหนือประเทศไทย

ประเภทอาหารเหนือ อาหารพื้นบ้านของภาคเหนือประเทศไทย แต่ละชนิดนำมาปรุงนั้นแตกต่างกันไปตามรสชาติ ของเครื่องเทศแต่ละชนิด

1) อาหารชนิดคั่ว หมายถึง อาหารที่ใส่กระทะหรือหม้อตั้งไฟ อาจใส่น้ำหรือน้ำมันเล็กน้อย แล้วคนหรือพลิกกลับไปกลับมาจนสุก ถ้าเป็นการคั่วเนื้อสัตว์จะคั่วกับเครื่องแกงอย่างแกงแค แต่ถ้าเป็นการคั่วผักจะใส่กระเทียบทุบ พริกหนุ่ม และหอมแดงหั่นเป็นหลัก

คั่มแห้งไก่

2) อาหารชนิดส้า หมายถึงอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ดิบ เช่น เนื้อควาย เนื้อวัว ที่หั่นเป็นชิ้นบางพอคำ คลุกเคล้ากับเครื่องที่โขลกจากพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง มะแขว่น ข่า เกลือ เป็นต้น ใส่เลือดควายหรือเลือดวัว นำมาปรุงรสเค็ม นิยมรับประทานดิบ ๆ หากเป็นส้าผักจะคลุกเคล้ากับเครื่องที่โขลกจากพริกหนุ่ม และลดเครื่องเทศกลิ่นฉุนอย่างมะแขว่น เช่น ส้าจิ้นควาย ส้าจิ้นวัว ส้าป๋า ส้างวม (ฝักของต้นงวม มีลักษณะแบนยาว กว้างประมาณ 3 นิ้วมือ มีรสเปรี้ยว) ส้าใบม่วง (ใบมะม่วงอ่อน) ส้ามะเขือแจ้

3) อาหารชนิดป่าม หมายถึง อาหารที่ทำให้สุกโดยใช้ใบตองวางบนกระทะที่ตั้งไฟแล้วเอาหารวางบนใบตองนั้น เมื่ออาหารสุกจะมีกลิ่นหอมของใบตองด้วย เช่น ไข่ป่าม เป็นต้น

ไข่ป่าม

4) อาหารชนิดแอ๊บ หมายถึง อาหารที่ห่อด้วยใบตอง พับให้แบน กลัดด้วยไม้กลัด แล้วนำไปปิ้งบนเตา โดยใช้ไฟอ่อนจนอาหารสุกสังเกตที่ใบตองจะมีรอยไหม้เล็กน้อย เช่น แอ๊บถั่วเน่า แอ๊บหมู แอ๊บอ่องออ แอ๊บปลา เป็นต้น

แอ๊บอ่องออ

5) อาหารชนิดลาบ หมายถึงอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์ดิบ เช่น เนื้อควาย เนื้อวัว เนื้อหมู หรือปลา สับให้ละเอียด คลุกเคล้าให้เข้ากับเครื่องที่โขลกจากพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง มะแขว่น ข่า เกลือ เป็นต้น ใส่เลือดควาย เลือดวัว หรือเลือดหมู และผัก คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำมาปรุงรสเค็ม รับประทานดิบก็ได้ ถ้าจะทำให้สุกก็นำไปคั่วกับน้ำหรือน้ำมันเล็กน้อย เรียกว่า ลาบคั่ว อาหารชนิดลาบ เช่น ลาบควาย ลาบหมู ลาบวัว ลาบไก่ ลาบปลา เป็นต้น

ข้อมูล อาหารพื้นบ้านไทย กองการแพทย์ทางเลือก

เรียบเรียงโดย เชียงราย 108